เปิดวาระเร่งด่วนกระทรวงพลังงานภายใต้งบประมาณปี2558


เปิดวาระเร่งด่วนกระทรวงพลังงานภายใต้งบประมาณปี2558 เน้นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

 

แผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ2558 (ต.ค.2557-ก.ย.2558) ของกระทรวงพลังงาน ที่ดร.อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน บรรยายให้ข้าราชการกระทรวงพลังงาน ฟังเมื่อวันที่3ต.ค. 2557 เนื่องในโอกาสครบรอบ12ปีการก่อตั้งกระทรวงพลังงานนั้น ชี้ให้เห็นว่าในที่สุดแล้ว กระทรวงพลังงานต้องเดินหน้าเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่21 ให้ได้ภายในสิ้นปี 2557 นี้  แม้ว่ากลุ่มเครือข่ายภาคประชาชนฝั่งคุณรสนา จะยังคงคัดค้านถึงที่สุดด้วยเหตุผลเดิมๆ ก็ตาม

คู่ขนานไปกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ คือการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาคนกลางมาAudit ทรัพยากรในแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุในปี2565 ทั้งในส่วนของบริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต และบริษัทปตท.สผ. เพื่อที่จะกำหนดเป็นแนวทางในการบริหารจัดการให้ชัด ว่าจะเดินหน้าอย่างไรหลังสัมปทานหมดอายุ  โดยจะต้องแล้วเสร็จก่อนปีงบประมาณนี้ เพื่อให้บริษัทผู้รับสัมปทานมีระยะเวลาเตรียมตัวอย่างน้อย5ปี

  ทั้งสองเรื่องนี้ถือเป็นไฮไลท์ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ  เพราะอย่างน้อยที่สุดการรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมเอาไว้ในระดับเดิม ให้ได้นานที่สุด ก็จะช่วยลดการนำเข้าพลังงานลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

แผนงานอื่นๆที่จะมีความสำคัญที่จะดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณนี้คือ การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี ฉบับใหม่ ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี2558ไปจนถึงปี2579 ซึ่งที่ชัดเจนแล้วก็คือการจะเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดให้มากขึ้น จากแผนเดิมที่กฟผ.จะต้องสร้างทั้งหมด 4โรงโรงละ800เมกะวัตต์ รวม3,200เมกะวัตต์ ซึ่งจะเริ่มที่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ เป็นแห่งแรกแล้วเสร็จในปี 2562  ส่วนประเด็นเรื่องของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะใส่ไว้ในแผนพีดีพี ตามเดิมหรือไม่นั้น ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็นสองฝ่าย

สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกหรือแผนAEDP จะให้ความสำคัญกับโรงไฟฟ้าขยะ ที่จะมาแทนโรงไฟฟ้าจากหญ้าเนเปียร์ที่รัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ตั้งเป้าเอาไว้ถึง3,000 เมกะวัตต์ ภายในปี2564 ส่วนแผนอนุรักษ์พลังงาน ที่จะเน้นเรื่องของการส่งเสริมเทคโนโลยีที่จะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานลงนั้น  ก็จะทำให้เกิดความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น นอกจากการขยายการรับซื้อไฟฟ้ากับสปป.ลาว จาก7,000เมกะวัตต์ เป็น10,000เมกะวัตต์ นั้นก็จะมีการเซ็นเอ็มโอยูซื้อไฟฟ้าจากพม่า ที่ตั้งเป้าไว้ 10,000 เมกะวัตต์  ส่วนกัมพูชานั้นจะเป็นเรื่องของการเจรจาให้ได้ข้อยุติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล  ที่คาดว่าจะมีปริมารสำรองปิโตรเลียมอยู่จำนวนมาก

 เรื่องที่สำคัญที่มีการเริ่มต้นแล้วในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)บริหารประเทศนั้น คือการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ที่จะมีการเดินหน้าต่อ ทั้งในส่วนของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเบนซินและดีเซล ให้ลงมาอยู่ในระดับเดียวกัน  ,การปรับราคาแอลพีจีภาคขนส่ง ให้เท่ากับแอลพีจีภาคครัวเรือน ,การปรับราคาเอ็นจีวี ปีละ 2บาทต่อกิโลกรัม จนราคาสะท้อนต้นทุนที่15-16บาทต่อกิโลกรัม   ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไม่ให้ปริมาณการใช้มีความการบิดเบือน  พลังงานที่มีค่าความร้อนเท่ากัน ก็ควรจะต้องเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราที่เท่ากัน เป็นไปตามนโยบายที่ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเคยกล่าวเอาไว้


ในวันที่22ตุลาคม นี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะมีการประชุมหารือกันเป็นนัดแรกภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งคาดว่าจะมีการเปลี่ยนตัวประธานคณะกรรมการ จากพลเอกประยุทธ์ มาเป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่จะมีการรับรองมติของ กพช.ที่ตั้งโดย คสช. และนำเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนต่อไป

***แผนการดำเนินงานภายใต้ปีงบประมาณ2558 และรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ เชื่อว่าจะทำงานสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปพลังงาน ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เห็นหน้าของสมาชิกสปช.สายพลังงานแล้ว ไม่น่าที่จะมีประเด็นความขัดแย้ง โดยข้อเรียกร้องของคุณรสนา โตสิตระกูล น่าจะได้รับการชี้แจงด้วยเหตุผล จนสิ้นข้อสงสัย หากไม่มีวาระซ้อนเร้นอะไรอยู่เบื้องหลัง

ดูภาพรวมของกระทรวงพลังงาน ปัญหาและอุปสรรคสำคัญจะไม่ใช่เรื่องของนโยบายและแผนงานต่างๆ แล้วเพราะเชื่อว่าทั้งคสช.รัฐบาล และรัฐมนตรี นั้นมองไปในทิศทางเดียวกันอยู่แล้ว  แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่การนำไปปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ตามกรอบระยะเวลาที่วางเอาไว้หรือไม่มากกว่า   และถ้าข้าราชการกระทรวงพลังงานยังทำงานด้วยวิถีเดิมๆ ก็เชื่อว่า สิ่งที่  ปลัดอารีพงศ์ วาดหวังเอาไว้ในกระดาษ คงจะทำได้จริงเพียงไม่กี่เรื่อง ถ้าไม่เชื่อก็ต้องคอยติดตาม 

Comment : เปิดวาระเร่งด่วนกระทรวงพลังงานภายใต้งบประมาณปี2558
รายการอื่นๆที่น่าสนใจ