Energy Forum - วิกฤติก๊าซหมดอ่าวไทย ใกล้มาถึง
งาน Energy Forum ครั้งที่1 ซึ่งมาจากแนวคิดของดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการจะให้เป็นเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องพลังงานให้กับทั้งข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานและสื่อสารมวลชน ในคราวเดียวกัน โดยกำหนดประเด็นพูดคุยในเรื่อง "เข้าใจ เข้าถึง ก๊าซธรรมชาติ "ที่เชิญวิทยากรที่มีความรู้มาฉายภาพให้เห็นทั้งในมุมกว้างที่เป็นเทรนด์ของโลก และภูมิภาค และมุมลึก ที่เจาะลงไปเฉพาะประเทศไทย
ความตั้งใจของดร.ณรงค์ชัย อยากจะจัดให้มีเวทีในลักษณะนี้ ทุกๆไตรมาส ซึ่งก็เหมือนเป็นการติดตามความคืบหน้าการทำงานของกระทรวงไปให้สื่อสารมวลชนได้รับทราบไปในตัวด้วย
วิทยากรรับเชิญที่มาให้ความรู้ครั้งนี้ คือ คุณมงคลนิมิตร เอื้อเชิดกุล กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทเอสโซ่ ( ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ที่เป็นบริษัทลูกของ เอ็กซอน โมบิล บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลก และ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โดยที่มี ศ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ ในบทบาทของกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งทั้งดร.ศิริ และ อาจารย์พรายพล นั้น เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติในสายพลังงานด้วย การนำเสนอครั้งนี้จึงมีความหมายที่จะสะท้อนภาพไปถึงทิศทางการปฏิรูปพลังงานของประเทศด้วย
สรุปสาระสำคัญที่ทางคุณมงคลนิมิตร ฉายภาพจากมุมมองของเอ็กซอน โมบิล ที่ศึกษาแนวโน้มและทิศทางพลังงานของโลกและภูมิภาคเอาไว้ถึงปี2040 (2583 ) นั้นจะเห็นว่าก๊าซเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่จะยังมีปริมาณการใช้สูงที่สุด เมื่อเทียบกับน้ำมันและถ่านหิน เนื่องจากเป้นพลังงานที่สะอาดและมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของทั้งโลก เหลืออยู่อีกมากถึง28,000 ล้านล้านลูกบาศ์กฟุต ซึ่งคาดว่าจะมีใช้ไปได้อีก200ปี โดยประเทศที่ยังมีก๊าซธรรมชาติเหลืออยู่มากคือ รัสเซีย และตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ ที่จะเป็นผู้ส่งออกสำคัญของโลก ในขณะที่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นผู้ที่นำเข้ารายใหญ่ ที่มีประเทศผู้นำเข้าหลักคือญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ซึ่งก๊าซธรรมชาติจะใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก รองลงมาคือใช้ในภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง
การขยายตัวของเมืองใหญ่ที่มีประชากรอยู่รวมกันมากกว่า10ล้านคน ทำให้อัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ทิศทางที่ประเทศต่างๆจะให้ความสำคัญมากขึ้นในอนาคตคือการประหยัดพลังงาน หรือการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในขณะที่ ดร.ศิริ ซึ่งขีดวงลงมามองเฉพาะประเทศไทย นำเสนอแบบจำลองของสถานการณ์ของก๊าซธรรมชาติในอนาคตว่า จะมีใช้ไปได้อีกเพียง8ปีเท่านั้น (รวมปริมาณสำรอง ที่พิสูจน์แล้ว P1 8.4ล้านล้านลูกบาศ์กฟุต และปริมาณสำรองที่มีความเป็นไปได้ว่าจะพบ50% หรือP2) หากไม่มีการค้นพบปิโตรเลียมในแหล่งนอกสัมปทานอื่นๆเพิ่มเติม
ดร.ศิริ บอกว่า ในปี2564 กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจะเริ่มลดลง ต่ำกว่า ต่ำกว่า 2,750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ส่งป้อนให้โรงแยกก๊าซปัจจุบัน นั้นหมายถึงว่า โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 1 ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)จะต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากมีปริมาณก๊าซฯไม่พอสำหรับการผลิต และหากไม่มีก๊าซจากแหล่งใหม่ๆมาเพิ่ม ในปี2566 เราจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจี มาทดแทนก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ถึง100%
เขากล่าวติดตลกด้วยว่า ต่อไปจะไม่ต้องเถียงกันแล้วว่า ท่อก๊าซในทะเลจะเป็นของใคร เพราะจะไม่มีก๊าซมาป้อนผ่านทางท่อ รวมทั้งไม่ต้องเถียงกันด้วยว่า ควรจะใช้แอลพีจีราคาเท่าไหร่ เพราะโรงแยกก๊าซที่มีอยู่จะไม่มีก๊าซป้อน และผลิตแอลพีจีไม่ได้ ต้องนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศในราคาตลาดโลกมาใช้แทน
ดร.ศิริ คาดว่า ไทยจะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีมากถึง 40-50 ล้านตัน
หรือเกือบ 50% ของการนำเข้าแอลเอ็นจีของประเทศญี่ปุ่น
และจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 3.90 บาทต่อหน่วย
เป็น 5.50 บาทต่อหน่วยในอนาคต เนื่องจากราคาแอลเอ็นจีมีราคาแพงกว่าก๊าซในอ่าวไทยกว่าเท่าตัว
คือ 15-16 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาก๊าซในอ่าวไทยอยู่ที่ 8 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าวจะทำให้บริษัทต่างชาติ
ไม่กล้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งจะกระทบการจ้างงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
หลังจบการบรรยาย ณรงค์ชัย นำเสนอทางออกว่า กระทรวงพลังงานจะเร่งพิจารณาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ภายในปี2557 นี้ โดยในเดือน ต.ค. 2557นี้ จะเปิดให้เอกชนที่สนใจยื่นเอกสารขอสำรวจแหล่งที่มีความเป็นไปได้ในการพบปิโตรเลียมก่อนที่จะมีการออกสัมปทานสำรวจต่อไป ส่วนแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่ใกล้จะหมดอายุนั้น จะมีความชัดเจนในแนวทางบริหารจัดการ ภายในปี2558 รวมทั้งจะเร่งเจรจาหาแหล่งปิโตรเลียม พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา
ส่วน ดร. อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน บอกว่าในแผนพีดีพีฉบับใหม่ที่จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
(กพช.) จะพยายามที่จะแก้วิกฤติก๊าซในอ่าวไทย โดยการหันไปพึ่งพาเชื้อเพลิงถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า
การซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน
การส่งเสริมพลังงานทดแทน และมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อที่จะลดการนำเข้าแอลเอ็นจีจากต่างประเทศ
ให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงเกินไป
ถึงจุดนี้ฝั่งที่ต่อต้าน คงจะมองว่า กระทรวงพลังงานจัดฉากสร้างสถานการณ์ให้คนตื่นตระหนก เพื่อที่จะยอมให้มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ เพราะไม่เชื่อว่าก๊าซธรรมชาติจะหมดไปจากอ่าวไทยอย่างที่บอก
มีสำนวนไทยบอกว่า "ไม่เห็นโรงศพไม่หลังน้ำตา" "สายเกินแก้" "วัวหายล้อมคอก" "ตีตนไปก่อนไข้" " กระต่ายตื่นตูม"ที่ทำให้เรามองวิกฤติก๊าซในอ่าวไทยที่ต่างกันออกไป ทั้งๆที่ ดร.ณรงค์ชัย บอกว่า พลังงานนั้นเป็นเรื่องง่าย เพราะเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องมองปัญหาให้เข้าใจและแก้ปัญหาให้ตรงจุด ก็หวังว่าปัญหา วิทยาศาสตร์ เรื่องนี้จะแก้ได้อย่างทันท่วงที และไม่ทำแบบไฟไหม้ฟาง" - Energy24hours