GPSC รุกธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคปี61
ดร.เติมชัย บุนนาค
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์
ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.
เปิดเผยว่า กลยุทธ์การขับเคลื่อนธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในปี 2561
บริษัทมุ่งเน้นการลงทุนภายในประเทศ ที่จะรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม
ปตท. ซึ่งมีเป้าหมายลงทุนในพื้นที่มาบตาพุด
ภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าและระบบสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
โดยคาดว่าการเติบโตการลงทุนใน EEC จะส่งผลให้ GPSC มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีนี้
"หลังจากที่ร่าง พรบ. EEC ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติ
(สนช.) คาดว่าจะเกิดการลงทุนในประเทศครั้งใหญ่ทั้งกลุ่มของ ปตท. และลูกค้าอื่นๆ
ของเรา ดังนั้น GPSC ในฐานะเป็นแกนนำด้านพลังงานไฟฟ้าและสาธารณูปโภค
ของกลุ่ม ปตท. มีความพร้อมที่จะลงทุนในด้านการผลิตระบบไฟฟ้าและสาธารณูปโภค
เพื่อมารองรับโครงการต่างๆ จึงมั่นใจว่าจะทำให้ GPSC มีอัตราการเติบโตไปพร้อมๆ
กับการเติบโตของ EEC " ดร.เติมชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ
ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการลงทุนนวัตกรรมพลังงาน
เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการตื่นตัวของด้านการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System:ESS
) ซึ่ง GPSC ได้จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญขึ้น
เพื่อทำการศึกษาและวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงานให้เกิดความเหมาะสมกับความต้องการใช้ภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียน
เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุน หลังจากภาค
รัฐมีนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน โดยแผนการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่
ร่วมกับบริษัท 24M Technologies ประเทศสหรัฐอเมริกา ขนาดกำลังการผลิต 100
MWH (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯ
ได้รับสิทธิในการนำเทคโนโลยี 24M มาผลิตเพื่อจำหน่ายแบตเตอรี่ในประเทศไทยและอาเซียน
ล่าสุดได้ตัดสินใจเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับประเทศไทยในการผลิตและจำหน่าย
โดยมีผู้ออกแบบโรงงานและกระบวนการผลิต พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ภายใน
และคาดว่าจะสามารถดำเนินการผลิตได้ภายในปลายปี 2562
ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเหมราช ชลบุรี 1
สำหรับเป้าหมายการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ
ได้วางแผนการลงทุนไปพร้อมกับกลุ่ม ปตท. และพันธมิตรทางธุรกิจ โดยในประเทศพม่า
ถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการลงทุนด้านพลังงาน
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล
ซึ่งบริษัทฯ มองเห็นโอกาสในการเข้าไปลงทุน
ถือเป็นประเทศเปิดใหม่ที่นักลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบ
ส่วนการลงทุนในสปป.ลาว
บริษัทมีประสบการณ์จากการร่วมทุนใน 2 โครงการ ได้แก่
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (XPCL) และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำลิก 1
(NL1PC) ซึ่งทั้งสองโครงการทำให้บริษัทฯ มีความชำนาญ
และองค์ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอด เพื่อการพัฒนาโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นได้อีก
"โรงไฟฟ้าไซยะบุรีมีความคืบหน้าไปค่อนข้างมาก
โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 จะเสร็จในปีนี้
และคาดว่าการก่อสร้างทั้งหมดจะเสร็จทันกำหนดการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนตุลาคม
2562 ตามแผน ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าน้ำลิก 1 ปีนี้งานหลักคือการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรสำคัญๆ
และเตรียมทดสอบระบบปลายปี คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในเดือนกุมภาพันธ์
2562" ดร.เติมชัย กล่าว