ตลาดน้ำมันดิบถูกกดดันจากอุปทานจากสหรัฐฯ
ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์
โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 19 มีนาคม 2561 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ
59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ
64-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 – 23
มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลง
เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ
ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซีย
และกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
รวมถึงแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี
นอกจากนี้ ต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่
20-21 มี.ค. 61 นี้ ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในปีนี้หรือไม่
โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม
ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่อาจตึงตัว
จากเหตุความไม่สงบในลิเบียที่ยังคงยืดเยื้อ
แม้ว่าลิเบียจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มก่อความไม่สงบเพื่อเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบ
El Feel ได้ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 61 ก็ตาม
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
1.ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ
มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับจุดคุ้มทุนของการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ
โดยล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) ปรับเพิ่มการคาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ
ปี 2561 ในเดือน มี.ค. เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
นอกจากนี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาส 4/2561 คาดว่าจะเฉลี่ยที่ระดับ 11.17
ล้านบาร์เรลวัน ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซีย
และกลายเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก
ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในเดือน
เม.ย.ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 0.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือน มี.ค.
สู่ระดับ 6.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
2.ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ
มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี
รวมถึงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ
สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 มี.ค. 2561 ปรับเพิ่มขึ้น 5.0 ล้านบาร์เรล
สู่ระดับ 430.9 ล้านบาร์เรล
3.ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศลิเบียที่ยังคงยืดเยื้อ
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
ที่ส่งผลกระทบให้ลิเบียต้องประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และหยุดดำเนินการผลิตจากแหล่งน้ำมันดิบ
El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตราว 70,000 บาร์เรลต่อวัน
แม้ว่าลิเบียจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มก่อความไม่สงบในการเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบดังกล่าวได้ตั้งแต่วันที่
7 มี.ค. 61 ก็ตาม
4.จับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ
(FOMC) ในวันที่ 20-21 มี.ค. 61 ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้หรือไม่ โดยล่าสุด CME
Group วิเคราะห์ภาวะการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ
พบว่านักลงทุนคาดการณ์ว่ามีโอกาส 86% ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน
มี.ค. นี้ และมีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในเดือน มิ.ย.
และครั้งที่ 3 ในเดือน ก.ย. ทั้งนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ
มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินสหรัฐฯ
มีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น และกดดันราคาน้ำมันดิบ
5.ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้
ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านของจีน จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน
ยอดขายบ้านใหม่ และดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของสหรัฐฯ
ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (5
– 9 มี.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น
0.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่
66.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐฯ
ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ
ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้
เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันดิบอ่อนตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี
อย่างไรก็ตาม
ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิต