กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมูบาดาลาโปร่งใส


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมูบาดาลาโปร่งใส

 

ตามที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม(ประเทศไทย)ว่า บริษัทได้เผยแพร่  แผนการประกอบกิจการของบริษัทผ่านสำนักข่าวต่างประเทศ เกี่ยวกับแผนการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งมโนราห์

ในทะเลอ่าวไทย แต่ไม่มีการนำเสนอข่าวดังกล่าวในประเทศไทย  นั้น

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) ซึ่งมีบริษัทแม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ  ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขที่จะต้องเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทเพื่อความโปร่งใสและเป็นธรรม    ต่อการลงทุนให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ  ตามหลักธรรมาภิบาลของนานาประเทศ ในขณะที่กระทรวงพลังงาน     โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับอัตราการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งต่างๆ ในประเทศ    ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานมาอย่างต่อเนื่อง

 บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม

ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE  โดยเป็นบริษัทในเครือ 100% ของบริษัทMubadala Development Company (MDC) ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งโดยรัฐบาลแห่งรัฐของ Abu Dhabi มีมกุฎราชกุมารของ Abu Dhabi  เป็นประธานบริหาร

            บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม มิได้มีธุรกิจด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เฉพาะแต่ในประเทศไทยเท่านั้น  แต่ยังได้รับสัมปทานแหล่งน้ำมันและแหล่งก๊าซในอีกหลายประเทศ เช่น การ์ตา โอมาน บาห์เรน อินโดนีเซีย  และประเทศไทย นอกจากนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม เริ่มเข้ามาซื้อกิจการทั้งหมดของ บริษัท เพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ ที่เป็นสัญชาติอเมริกันตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ จึงได้สิทธิสัมปทานปิโตรเลียมในประเทศไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ของบริษัทมาด้วย

          สำหรับในประเทศไทย บริษัทลูกของบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม  ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมโดยถูกต้อง

ตามกฎหมายหลายแปลง  รวมถึงแปลงที่ซื้อมาจากบริษัท แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่ คือแปลง B5/27 ในอ่าวไทย         ซึ่งบริษัท เพิร์ล เอ็นเนอร์ยี่ เป็นผู้สำรวจพบจนสามารถพัฒนาแหล่งน้ำมันดิบขนาดเล็ก ชื่อว่าแหล่งจัสมินและบานเย็น กำลังผลิตเพียงราว 14,000 - 15,000 บาร์เรล/วัน

          จากแหล่งเล็กๆ คือ จัสมินและบานเย็นดังกล่าว  ทำให้บริษัท มูบาดาลา มีความเชื่อมั่นมาขอสัมปทานเพิ่มเติมอีก  โดยนำเงินจากรายได้ของสองแหล่งนั้นกลับมาลงทุนเพิ่มเติมในไทยอีกเป็นหลายพันหลายหมื่นล้านบาท   จนกระทั่งพบแหล่งน้ำมันดิบเล็กๆ อีก 2 แหล่ง คือ  แหล่งนงเยาว์ และแหล่งมโนราห์

แหล่งนงเยาว์ของบริษัท มูบาดาลา อยู่ในแปลง G11/48 ซึ่งเป็นแปลงที่ออกสัมปทานเมื่อ 13      กุมภาพันธ์ 2550  โดยผู้รับสัมปทานคือ บริษัท เพิร์ลออย เอนเนอร์ยี่ สัญชาติสิงคโปร์  ต่อมาได้ขายกิจการให้ บริษัท มูบาดาลา

สำหรับแหล่งน้ำมันดิบมโนราห์อยู่ใน แปลง G1/48 ออกสัมปทานเมื่อ 8 ธันวาคม 2549 โดยผู้รับสัมปทาน  คือ บริษัท Occidental Exploration (50%) และบริษัทSyarikat Borcos Shipping (50%) ต่อมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 ได้โอนให้กับบริษัท เพิร์ล ออย (อมตะ) จำกัด สำหรับผู้สัมปทานปัจจุบัน คือ บริษัท เอ็มพีจี 1(ประเทศไทย) 60%  บริษัท Tap Energy (Thailand) 30%  และ บริษัท Northern Gulf Petroleum 10%  ตามลำดับ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงผู้ลงทุน ในช่วงระยะเวลาการสำรวจ นั้น สามารถทำได้ตามเงื่อนไขทางธุรกิจภายใต้กฎหมายปิโตรเลียม แต่ต้องไม่กระทบต่อสิทธิหน้าที่ของผู้รับสัมปทานตามสัญญาสัมปทานและจะต้องดำเนินงานสำรวจตามข้อผูกพันตามที่เสนอไว้ในสัมปทาน (การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ลงทุนต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานรัฐตามขั้นตอนของกฎหมาย)

- แหล่งมโนราห์กำลังจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบประมาณปลายปี 2557 โดยมีอัตราการผลิตเริ่มต้นที่  ประมาณ 7,500 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มอัตราการผลิตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอัตราการผลิตสูงสุดตามที่คาดการณ์ไว้คือประมาณ 15,000 บาร์เรล/วันในช่วงประมาณเดือนมีนาคม  2558   

แหล่งนงเยาว์ปัจจุบันยังไม่มีการผลิตประมาณใดๆ เนื่องจากอยู่ระหว่างประกอบแท่นกระบวนการผลิตและแท่นหลุมผลิต ส่วนเรือกักเก็บน้ำมันก็อยู่ระหว่างการประกอบในต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตครั้งแรกประมาณเดือนมิถุนายน 2558 

อัตราการผลิตทั้งสองแหล่งดังกล่าวคำนวณจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านวิศวกรรมแหล่งกักเก็บ เพื่อใช้ในการประเมินการลงทุนพัฒนาแหล่ง  แต่ในการดำเนินการจริงหากมีข้อมูลจากการสำรวจเพิ่มเติมที่ชัดเจนมากขึ้น  เช่น การเจาะหลุมสำรวจ การทดสอบอัตราการไหลของหลุมผลิตปิโตรเลียม ก็จะต้องปรับตัวเลขแผนการลงทุนและแผนการผลิตให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็ได้ โดยการดำเนินการแบบนี้เป็นมาตรฐาน     การดำเนินงานทั่วไปของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 

           สำหรับประเด็นที่มีข้อห่วงกังวลว่าน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากทั้งสองแหล่งอาจมีการส่งออกไปขายยังต่างประเทศ นั้น  กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ขอยืนยันว่า  ปัจจุบันกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ขอความร่วมมือบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมทุกรายงดเว้นการส่งออกน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม 2514   มาตรา 61 ซึ่งกำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศหรือเพื่อให้มีปิโตรเลียมเพียงพอตามความต้องการใช้ภายในราชอาณาจักร ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามส่งปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้ทั้งหมดหรือบางส่วนออกนอกราชอาณาจักรหรือห้ามส่งไปที่ได้เป็นการชั่วคราวได้

ในกรณีในอดีตที่ผ่านมามีการส่งออกน้ำมันดิบบางส่วนนั้น เนื่องจากคุณภาพของน้ำมันดิบไม่เป็นที่ต้องการของโรงกลั่นภายในประเทศ เพราะน้ำมันดิบจากบางแหล่งในอ่าวไทยจัดเป็นประเภท Light Crude ซึ่งเมื่อกลั่นแล้วจะให้ผลผลิตเป็นน้ำมันเบนซินในสัดส่วนที่สูง จึงไม่เหมาะกับตลาดผู้ใช้น้ำมันภายในประเทศที่มีความต้องการใช้ดีเซลสูง การส่งออกน้ำมันดิบที่มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมกับโรงกลั่นจะสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับประเทศสูงกว่า แต่ทั้งนี้ ปัจจุบันไม่มีการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งปิโตรเลียมในประเทศแต่อย่างใด

-------------

Comment : กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แจงเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นมูบาดาลาโปร่งใส
รายการอื่นๆที่น่าสนใจ