34 องค์กรใหญ่ ประกาศความพร้อม เดินหน้าโครงการ OUR
Khung Bang Kachao
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าสู่ความยั่งยืน
กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ OUR Khung Bang Kachao เมื่อวันที่
24 กรกฎาคม 2561
ที่ผ่านมาว่า "คุ้งบางกะเจ้า" พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่กว่า
12,000 ไร่ในอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีคุณประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมสำคัญของประเทศ
ทั้งยังมีคุณค่าเชิงเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว สังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
ทรงมีพระราชดำริให้สงวนพื้นที่แห่งนี้ไว้เป็นพื้นที่สีเขียว
สร้างอากาศบริสุทธิ์และประโยชน์แก่ผู้คนมากมาย ด้วยเหตุนี้โครงการ OUR
Khung Bang Kachao จึงเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือจาก 34
องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชุมชน 6 ตำบลในพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า
ภายใต้การกำกับของมูลนิธิชัยพัฒนา
ที่พร้อมจับมือเดินหน้าพัฒนาพื้นที่คุ้งบางกะเจ้าในทุกด้านร่วมกัน โดยน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา"
แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
มาสืบสานขยายผลตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10
และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มาเป็นหลักทำงานสำคัญ
โครงการ OUR Khung Bang Kachao เป็นความร่วมมือในรูปแบบการสานพลังร่วมเพื่อพัฒนาสังคม
(Social Collaboration with Collective Impact) กำหนดเป้าหมายร่วมกันว่าจะขับเคลื่อนการพัฒนา
"เศรษฐกิจสีเขียว" หรือ
พื้นที่สีเขียวที่ก่อให้เกิดรายได้และยกระดับวิถีชุมชนให้ดีขึ้นให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน
5 ปี
นอกจากจะหวังผลในเรื่องการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมแล้ว ยังกำหนดเป้าหมายว่าผลของการดำเนินงาน
จะต้องทำให้ชุมชนในพื้นที่เติบโต แข็งแรงอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น 20%
โดยขับเคลื่อนผ่านกระบวนการทำงานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ 1. พัฒนาพื้นที่สีเขียว
2. จัดการน้ำและการกัดเซาะริมตลิ่ง 3. จัดการขยะ
4. ส่งเสริมอาชีพ 5. ท่องเที่ยว
6. พัฒนาเยาวชนและการศึกษา
"34
องค์กรและชุมชน 6 ตำบล ได้เชื่อมโยงกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
ด้วยวิธีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาความต้องการที่แท้จริง
มาวางกรอบการทำงานและสร้างเป้าหมายร่วมกันของคณะทำงาน ซึ่งถือเป็นโมเดลการพัฒนาชุมชนรูปแบบใหม่ของประเทศไทย
ที่สอดคล้องตามแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์พื้นที่บางกะเจ้าให้เป็นพื้นที่สีเขียว
รวมทั้งพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ในลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีการอนุรักษ์วิถีชีวิต
และความเป็นอยู่เรียบง่ายอย่างในอดีต" ดร.สุเมธ กล่าวเพิ่มเติม