รัฐอลาสก้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF พร้อมเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า พ.ย. 61 นี้


รัฐอลาสก้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF พร้อมเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า พ.ย. 61 นี้

 


แม้รัฐต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกากว่า 48 รัฐ จะตามกระแสการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติถูกลงเป็นสาเหตุหลัก แต่สำหรับรัฐอลาสก้าที่ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในสัดส่วนร้อยละ 40 แล้ว โรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่กำลังผลิต 17 เมกะวัตต์ ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งความร้อนและไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยแห่งอลาสก้าแฟร์แบงค์ (The University of Alaska Fairbanks - UAF) พร้อมจะเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้าเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งนับเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่โรงเดียวในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี 2558


มหาวิทยาลัย UAF จัดงานฉลองในโอกาสที่โรงไฟฟ้าถ่านหินก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงโรงเดียวในสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี 2558

 

เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2561 อธิการบดีแห่งมหาวิทยาลัย UAF นายแดน ไวท์ ได้กล่าวกับสาธารณชนที่มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่โรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF ก่อสร้างแล้วเสร็จ ว่า "เราเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิจัยชั้นนำระดับโลก ซึ่งการดำเนินงานจะเดินหน้าไม่ได้ ถ้าขาดแหล่งผลิตความร้อนและไฟฟ้า"

โรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF แห่งนี้ มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ เพราะนอกจากจะมาแทนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินเดิมของมหาวิทยาลัยที่มีกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ ซึ่งเก่าแก่และเสี่ยงต่อการหยุดผลิตไฟได้ทุกเมื่อแล้ว ยังเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งเดียวที่สร้างใหม่ในสถานการณ์ที่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นร้อย ๆ โรงในสหรัฐอเมริกาต้องปิดลง โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและฝุ่นละอองขนาดเล็ก

 


โรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF กำลังผลิต 17 เมกะวัตต์

https://news.uaf.edu/combined-heat-and-power-plant-celebration/

 

สิ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัย UAF และรัฐอลาสก้าต่างจากรัฐอื่น ๆ คือการมีแหล่งก๊าซธรรมชาติน้อย และมีราคาแข่งขันกับถ่านหินไม่ได้ ขณะที่น้ำมันก็ราคาแพง และไม่มีแสงแดดพอที่จะให้พลังงานกับมหาวิทยาลัยได้ในช่วงกลางฤดูหนาว เมื่อพิจารณาจากแหล่งพลังงานทั้งหมด ถ่านหินจึงยังเป็นพลังงานที่หาได้ง่ายและราคาถูก

 

เหมืองถ่านหิน Usibelli ผลิตถ่านหินได้ 1 ล้านตันต่อปี ป้อนให้กับโรงไฟฟ้า 6 โรงในรัฐอลาสก้า

 

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า UAF เป็น 1 ใน 6 โรง ที่นำเชื้อเพลิงมาจากเหมืองถ่านหินแห่งเดียวในรัฐอลาสก้า คือเหมือง Usibelli ซึ่งอยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยชั่วระยะการขับรถ 2 ชั่วโมง โดยเหมืองสามารถผลิตถ่านหินได้ 1 ล้านตันต่อปี

 

 

แปลและเรียบเรียง : สุภร เหลืองกำจร

ข้อมูลจาก In Interior Alaska, reinvestment in coal power runs counter to national trend

https://www.alaskapublic.org/2018/10/09/in-interior-alaska-reinvestment-in-coal-power-runs-counter-to-national-trend/

 

 

ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

Comment : รัฐอลาสก้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน UAF พร้อมเดินเครื่องจ่ายกระแสไฟฟ้า พ.ย. 61 นี้
รายการอื่นๆที่น่าสนใจ