3 คำถามยอดฮิตเรื่องน้ำมันในกระแสโซเชียล
คำถามที่ถามกันบ่อยในฝั่งประชาชน ที่พบเห็นตาม โซเชียลมีเดีย ทั่วไป แบบถามแล้วถามอีก ตอบไปแล้วก็ถามใหม่ เพราะไม่ถูกใจในคำตอบ หรือมีคำตอบที่ตัวเองฝังหัวอยู่แล้ว คือ
1.ทำไมคนไทยใช้น้ำมันราคาแพง?
2.ไหนบอกว่ามีน้ำมันไม่พอใช้ แล้วทำไมถึงมีเหลือส่งออก ? และ
3. น้ำมันของเรามีในประเทศเองแท้ๆ ทำไมปล่อยให้เอกชนเป็นเจ้าของ แล้วรัฐต้องซื้อกลับคืนในราคาตลาดโลก ทำไมถึงไม่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตที่รัฐเป็นเจ้าของน้ำมันเสียเอง เหมือนอย่างที่คุณรสนา หรือหม่อมกร เสนอแนะเป็นทางออก
นี่เป็นเพียงคำถาม 3ข้อยอดฮิตในหลายๆข้อ ที่พบเห็นในกระแสโซเชียล ที่ลองหยิบมาตอบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น ตามนี้นะครับ
1. คนไทยใช้น้ำมันแพง เป็นความจริงครับถ้าเทียบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างตะวันออกกลาง หรือเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย แต่ราคาน้ำมันที่คนไทยใช้ ก็ยังถูกกว่าอีกหลายประเทศ ถ้าในอาเซียนด้วยกัน ก็มีสิงคโปร์ ,ลาว,กัมพูชา,เวียดนาม หรือถ้าไกลออกไป เราก็ยังใช้น้ำมันราคาถูกกว่า ฮ่องกง ญี่ปุ่น
โครงสร้างราคาน้ำมันแต่ละประเทศ ในส่วนของราคาเนื้อน้ำมันนั้นใกล้เคียงกัน แต่มีความแตกต่างกันในส่วนที่เพิ่มเข้ามา คือ ภาษี ,กองทุนน้ำมัน, อัตราแลกเปลี่ยน,ค่าการตลาด รวมทั้ง นโยบายการส่งเสริมพลังงานทดแทนอย่างเอทานอล หรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือบี100 ที่มีราคาแพงกว่าราคาเนื้อน้ำมันที่หน้าโรงกลั่น เมื่อเอาสิ่งที่แพงมาผสมสิ่งที่ถูกกว่า ราคาก็เฉลี่ยๆกันไป ในข้อดีก็คือ แทนที่เราจะต้องจ่ายเงินไปให้แขกตะวันออกกลางทั้ง100% (ในส่วนที่นำเข้า ) ก็ยังดีที่ส่วนหนึ่ง 10%,20%,หรือ85% ของเอทานอลที่ผสมเข้าไปในเบนซิน หรือ 3.5%-7% ของบี100 ที่ผสมอยู่ในดีเซล นั้น มาจากพืชพลังงานที่ปลูกในประเทศเช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน รายได้ก็หมุนเวียนอยู่ในผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ปลูก
2.เรามีน้ำมันดิบไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ กว่า85%ของน้ำมันดิบต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ที่เหลือคือน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ ข้อเท็จจริงนี้ตรวจสอบได้ ส่วนที่ส่งออกนั้นมี2ส่วน คือ เป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ และมีคุณภาพน้ำมันไม่เหมาะกับโรงกลั่นในประเทศ และอีกส่วนคือการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ที่มีเหลือมากกว่าการใช้ เพราะการนำเข้าให้ได้ปริมาณที่คุ้มกับขนาดโรงกลั่น น้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกส่วนใหญ่ เป็น เบนซิน (น้ำมันดิบ ส่วนใหญ่กลั่นออกมาได้ดีเซลและเบนซิน ใกล้เคียงกัน จึงต้องนำเข้าน้ำมันดิบมามากพอที่จะกลั่นเป็นดีเซลให้เพียงพอใช้ในประเทศ แต่การที่ดีเซลใช้ประมาณวันละ 57-60ล้านลิตรต่อวัน ในขณะที่เบนซินรวมแก๊สโซฮอล ใช้อยู่20-22ลิตรต่อวัน ทำให้เบนซินจากโรงกลั่นมีเหลือ)
3.น้ำมันดิบที่มีในประเทศ เราใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งรัฐกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าภาคหลวงและอัตราภาษีที่ชัดเจนตั้งแต่ต้น เมื่อเอกชนผลิตขึ้นมาได้ และขายให้กับรัฐวิสาหกิจ อย่างปตท.หรือโรงกลั่นเอกชนรายอื่นๆ ก็ขายในราคาตลาดโลก จึงจะคุ้มกับที่เขาลงทุนไป (เพราะถ้าขายในราคาควบคุมคงไม่มีใครมาลงทุน เราก็ไม่มีน้ำมันดิบใช้) เอกชนขายได้ราคาดี มีกำไรมากรัฐก็ได้ส่วนแบ่งมาก (แต่ถ้าเอกชนขายในราคาต่ำ ส่วนแบ่งของรัฐก็จะน้อย และไม่ได้ส่วนแบ่งภาษีหรือได้น้อย เพราะเอกชนจะมีกำไรน้อยหรือขาดทุน จริงอยู่ว่า ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ในกรณีนี้ เพราะได้ซื้อน้ำมันราคาถูก แต่อย่างที่บอกว่า ถ้าไม่มีเอกชนมาลงทุน ผู้บริโภคก็ต้องซื้อน้ำมันราคาตลาดโลกบวกค่าขนส่ง ซึ่งแพงกว่ามีน้ำมันของตัวเองอยู่ดี )
***กรณีที่จะไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต คือน้ำมันที่ผลิตได้ เอกชน กับรัฐแบ่งปันน้ำมันดิบกัน ถามว่า จะต้องแบ่งกันสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งต้องตกลงกันก่อน ไม่ใช่ขุดขึ้นมาใช้แล้วค่อยแบ่ง (ถ้าแบบขุดขึ้นมาแล้วค่อยแบ่ง การลงทุนทั้งรัฐและเอกชนต้องช่วยกันรับความเสี่ยงตั้งแต่ต้นด้วยกัน ) ที่นี้ ถ้ารัฐจะขอส่วนแบ่งมากๆ เอกชนได้น้อยเขาก็ไม่ยอมผลิต ต้องเสียเวลาต่อรองจนกว่าจะได้ข้อยุติ เป็นหลุมๆไป (ดูยุ่งยากมั๊ยครับ) อีกประเด็นคือ น้ำมันดิบที่แบ่งมา จะให้ใครขาย จะให้ปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจขาย หรือรัฐโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะตั้งบรรษัทแห่งชาติขึ้นมาขาย แล้วจะขายราคาตลาดโลกหรือราคาควบคุม ถ้าขายราคาตลาดโลก ก็ไม่แตกต่างกันกับระบบสัมปทาน แต่ถ้าขายราคาควบคุม รัฐจะได้เงินไม่มากนัก ก็จะต้องเอางบประมาณจากส่วนอื่น มาขยายการลงทุนในหลุมผลิตอื่นๆ กรณีนี้ ผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่เพราะได้ใช้น้ำมันราคาถูก ความต้องการใช้ก็จะเพิ่มขึ้นมาก แหล่งน้ำมันดิบของไทยไม่ได้มีมาก ใช้กันไปไม่กี่ปีก็หมด สุดท้ายก็ต้องนำเข้าน้ำมันดิบทั้งหมดในราคาตลาดโลกอยู่ดี
ทรัพยากรปิโตรเลียม ของประเทศทั้งน้ำมันดิบและก๊าซ
จึงควรจะต้องเลือกวิธีและระบบที่รัฐได้ผลตอบแทนดีที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่ประชานิยมราคาถูก ใช้หมดเร็ว
และไม่มีเหลือให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ใช้ ลองคิดกันให้ดีดี
Energy24hours