วันนี้ (23 มกราคม 2563)
จังหวัดนนทบุรี และ กฟผ. ร่วมจัดกิจกรรม "ชาวนนท์ รณรงค์ลด PM 2.5"
เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)
ในอากาศสะสมเกินค่ามาตรฐาน โดยมีนางจุรีรัตน์ เทพอาสน์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้บริหาร กฟผ. เข้าร่วมกิจกรรม ณ
กฟผ. สำนักกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
นางจุรีรัตน์ เทพอาสน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า
จังหวัดนนทบุรี และ กฟผ.
มีความห่วงใยต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี
จึงได้ดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น
โดยมอบหน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 จำนวน 20,000 อัน
ให้แก่เทศบาลเมืองบางกรวย ชุมชน โรงเรียน
และเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่กลางแจ้ง
พร้อมทั้งระดมจิตอาสาและรถดับเพลิงฉีดล้างทำความสะอาดพื้นถนนป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่น
ส่วนในภาพรวมของจังหวัดนนทบุรี
ได้จัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจจับรถควันดำ
ควบคุมดูแลโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก
กวดขันมาตรการป้องกันฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้างและรถบรรทุกขนดิน งดการเผาขยะ
เศษวัชพืช หรือผลผลิตทางการเกษตรโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันสาเหตุของการเกิดฝุ่นละออง
ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ
กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการช่วยลดปัญหาฝุ่น PM
2.5 เพื่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน โดยในส่วนของ กฟผ.
ได้ดำเนินมาตรการลดฝุ่นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การเปิดระบบพ่นละอองไอน้ำบนยอดตึก
20 ชั้นของ กฟผ. ฉีดพ่นวันละ 3 ช่วงเวลา ช่วงละ 2 – 3
ชั่วโมง ซึ่งจะเปิดระบบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์ฝุ่นจะคลี่คลาย
รวมทั้งติดตั้งรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ
เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศในพื้นที่อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง
ตลอดจนรณรงค์ให้พนักงาน กฟผ. ใช้รถมินิบัสไฟฟ้า (EV Bus) และรถบริการสาธารณะเพื่อลดการใช้รถส่วนตัว
รวมถึงหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งโดยไม่จำเป็นและสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกอาคาร
นอกจากนี้ กฟผ.
ยังมีมาตรการป้องกันการเกิดฝุ่นในภาพรวม เริ่มตั้งแต่ในส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.
ซึ่งได้ติดตั้งระบบดักจับฝุ่นด้วยไฟฟ้าสถิต (ESP) ระบบกำจัดมลสารอื่น
ๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ
เพื่อควบคุมดูแลการปลดปล่อยมลสารให้อยู่ในระดับมาตรฐานของประเทศไทยและตรวจวัดอย่างต่อเนื่อง
โดยประชาชนสามารถติดตามและตรวจสอบได้จากป้ายแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้า
กฟผ. ในพื้นที่ รวมถึงส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเบอร์ 5
การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า และการพัฒนารถโดยสารประจำทางใช้แล้ว ของ ขสมก.
ให้เป็นรถไฟฟ้าต้นแบบเพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษทางอากาศและ PM 2.5
ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
พร้อมทั้งรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนรอบเขื่อนและโรงไฟฟ้าห้ามจุดไฟเผาป่าและวัชพืช
โดยร่วมกับชุมชนจัดตั้งทีมเฝ้าระวังไฟป่า ทำแนวกันไฟ
และจัดทีมดับไฟป่าเพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าให้สงบลงได้อย่างรวดเร็ว
พร้อมทั้งจัดโครงการสร้างฝายชะลอน้ำรอบพื้นที่เขื่อนของ กฟผ.
เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าและลดโอกาสของการเกิดไฟป่า