นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
เกินมาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ซึ่งข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษระบุว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณฝุ่นละอองสะสมสูง
ได้แก่ 1. การเผาไหม้ในที่โล่งแจ้ง 24.6 – 37.8
% 2. การเผาไหม้ของไอเสียของรถยนต์ดีเซลที่ไม่สมบูรณ์ 20.8 – 29.2 % 3. ปัญหาฝุ่นละอองทั่วไปและการก่อสร้าง
15.2 – 20.7% 4. ปัจจัยอื่นๆ
อาทิ ความกดอากาศ ช่วงเดือน พ.ย. – ก.พ. กระแสลม
และการใช้พลังงานในอาคารและครัวเรือน
กลุ่ม ปตท.
มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
ผ่านการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การผลิตน้ำมันไร้สารตะกั่วเป็นรายแรก
จนถึงพลังงานทางเลือกซึ่งเป็นพลังงานสะอาด อาทิ ก๊าซธรรมชาติ แก๊สโซฮอล
ตลอดจนพัฒนาไบโอดีเซล ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงสะอาด เผาไหม้สมบูรณ์
ช่วยในการลดมลภาวะทางอากาศ ทั้งนี้ จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยสถาบันนวัตกรรม
ปตท. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทดสอบการใช้ B10
และ B20 เพื่อสร้างความมั่นใจในการใช้งานจริง พบว่า รถกระบะเครื่องยนต์ยูโร 4
ที่ใช้ไบโอดีเซล B10 สามารถช่วยลด PM 2.5
ได้ถึงร้อยละ 3.5
เมื่อเทียบกับการใช้ไบโอดีเซล B7
ด้านการส่งเสริมให้เกิดการใช้ไบโอดีเซล
กลุ่ม ปตท. ได้ประกาศความพร้อมในการขยายสถานีบริการจำหน่ายน้ำมัน PTT UltraForce
Diesel B10 ให้ครบทุกสถานีภายในเดือนมีนาคม 2563 รวมถึงส่งเสริมการใช้ B20
ในกลุ่มรถขนาดใหญ่ เน้นการใช้ผ่านรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ ขสมก. บขส.
ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต่างๆ อีกด้วย
สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซล กลุ่ม ปตท. ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงโรงกลั่น
เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงยูโร 5
คุณภาพสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต
เพื่อสอดรับตามแผนของนโยบายรัฐบาล
ด้านการใช้พลังงานทางเลือกสำหรับอนาคต
กลุ่ม ปตท. มุ่งส่งเสริมเทคโนโลยีและสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยอุปกรณ์สำหรับชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
(EV Charger) และมีแผนที่จะขยาย EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมันโดยตั้งเป้าเพิ่มเป็น
77 สถานี ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 300
สถานี ภายในปี 2567 รวมทั้งสนับสนุน Start Up ด้านยานยนต์ไฟฟ้า
เช่น รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมศึกษาวิจัยความเหมาะสมของเทคโนโลยีระบบการบำบัด PM
2.5 ในการช่วยบรรเทาปัญหามลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้
มีแผนดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะในปี 2564
โดยมีมาตรการในการจัดการมลพิษทางอากาศด้วยระบบดักฝุ่นได้มากกว่าร้อยละ 95
พร้อมติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศจากปล่องระบายแบบต่อเนื่อง
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.
ยังได้ดำเนินตามกรอบมาตรฐานสากล เพื่อให้กระบวนการผลิตของโรงแยกก๊าซธรรมชาติ
โรงกลั่นน้ำมัน และโรงปิโตรเคมี
เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ
(PTT Group Operational Excellence) รวมถึงยังจัดทำ "โครงการส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อลดฝุ่นละออง
PM 2.5 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการเผาไหม้เชื้อเพลิง
และสนับสนุนปรับเปลี่ยนใช้พลังงานสะอาดในโรงงานอุตสาหกรรม
เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 มีนาคม 2563
ซึ่งหากไม่มีการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคอุตสาหกรรมอย่างเช่นปัจจุบัน
จะทำให้มีการปล่อย PM 2.5 ถึงวันละ 86
ล้านกรัมต่อวัน หรือมากกว่าในปัจจุบันถึง 96%
นายชาญศิลป์ฯ กล่าวว่า "การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน
ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
เริ่มตั้งแต่การหยุดการเผาในที่โล่งแจ้ง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคุณภาพ
ควบคู่กับการตรวจสอบสมรรถนะเครื่องยนต์ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ซึ่ง กลุ่ม ปตท. โดย
ศูนย์บริการยานยนต์ FIT Auto ของโออาร์ ได้จัดโปรโมชั่นร่วมบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง
โดยให้บริการตรวจเช็กสภาพรถฟรี 30 รายการ
พร้อมการมอบส่วนลดพิเศษทั้งน้ำมันหล่อลื่นและการล้างแอร์รถยนต์ จนถึงสิ้นเดือน
ก.พ.นี้ อีกส่วนที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้ คือ ร่วมกันปลูกและดูแลต้นไม้ ในโครงการ "ปลูกเพื่อเปลี่ยน"
ทั้งที่บ้าน สถานศึกษา รวมทั้งที่ทำงาน เพื่อช่วยดูดซับมลภาวะ
ฝุ่นละออง และลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน"
ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.
เองได้เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง
ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่
จนขยายผลมาสู่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จ.ระยอง
และศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบัน
กลุ่ม ปตท. ได้ขยายพื้นที่สีเขียวเข้าสู่ตัวเมือง ผ่านการดำเนินโครงการ Our
Khung Bangkachao ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน
ภายใต้การกำกับโดยมูลนิธิชัยพัฒนา
เพื่อให้คุ้งบางกะเจ้ากลับมามีความสมบูรณ์เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่
ผลิตออกซิเจนให้กรุงเทพ ถึงปีละ 9 เดือน และโครงการ Green Bangkok 2030
ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย พัฒนาพื้นที่สีเขียวให้ได้ 30%
ของพื้นที่เมืองภายใน 10 ปี ทำให้มีพื้นที่ร่มไม้มากขึ้น โดยต้นไม้ 1
ต้นมีศักยภาพในการดักจับจับฝุ่นละออง และมลภาวะทางอากาศ1.5
กิโลกรัมต่อปี
กลุ่ม ปตท.
พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
รณรงค์กระตุ้นให้ประชาชนตระหนักรู้และลงมือช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม
สร้างพลังงานทางเลือกที่ดีกว่าให้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค
เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน