นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)
เปิดเผยว่า บริษัทฯ ประสบความสำเร็จ
ในการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐอเมริกา ชนิดไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ
เมื่อเร็วๆ นี้ จำนวนรวม 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
เพื่อนำเงินมาสนับสนุนการลงทุนของบริษัทฯ โดยเฉพาะโครงการพลังงานสะอาด หรือ
โครงการ CFP (Clean Fuel
Project) และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงินของบริษัทฯ
ในช่วงสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
อันเนื่องมาจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
"หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก
Standard and Poor’s และ
Moody’s ที่ระดับ
BBB+ และ
Baa2
ตามลำดับ โดยประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 2 ชุด หุ้นกู้ชุดที่ 1 อายุ 10 ปี จำนวน 400
ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.50 ต่อปี
โดยหุ้นกู้ชุดนี้ถือเป็นหุ้นกู้สกุลเหรียญสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี
ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่สามารถออกและเสนอขายได้โดยบริษัทไทย
และหุ้นกู้ชุดที่ 2 อายุ 30 ปี จำนวน 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ
3.75 ต่อปี
หลังจากประกาศเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวของไทยออยล์ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันในต่างประเทศ
ผลปรากฎว่าได้รับความนิยมสูงมาก โดยมียอดจองซื้อเต็มจำนวนภายใน 10
นาทีที่ออกเสนอขาย และมียอดจองสูงสุดกว่า 7,500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 7.5
เท่าของวงเงินที่ตั้งไว้ การออกและเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวจัดจำหน่ายโดยธนาคาร BofA Securities, Citigroup (B&D),
Standard Chartered Bank, ANZ, BNP PARIBAS, and Deutsche Bank โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย
(Pricing Date) เมื่อวันที่
11 มิถุนายน 2663 และจะดำเนินการ settlement
แล้วเสร็จวันที่ 18 มิถุนายน 2563"
นายวิรัตน์ กล่าวเสริมว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน
และมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทต่างๆ
ทั่วโลกอยู่ในสภาวะที่มีความเสี่ยงสภาพคล่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ
ได้เตรียมความพร้อม และทางเลือกการจัดหาเงินโดยการเข้าถึงตลาดเงินระหว่างประเทศ
ผ่านโปรแกรม Global
Medium Term Note (โปรแกรม GMTN) ซึ่งเป็นโปรแกรมเตรียมความพร้อมในการจัดหาเงินทุนของบริษัทฯ
ทำให้บริษัทฯ สามารถเข้าถึงนักลงทุนได้อย่างกว้างขวาง รวดเร็ว
และทันต่อสถานการณ์ตลาดการเงินที่ผันผวน
ทั้งนี้บริษัทฯ
จึงสามารถจัดหาเงินทุนผ่านการออกพันธบัตรสกุลเหรียญสหรัฐอเมริกา
ด้วยต้นทุนที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง
แม้จะอยู่ท่ามกลางภาวะความกดดันของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก