นายชวลิต ทิพพาวนิช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์
ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.
เปิดเผยว่า ในวันนี้ (9 กรกฎาคม 2563) ได้จัดพิธีส่งมอบ "โครงการโรงเรียนวิถีใหม่
(The New Normal School)" ให้กับโรงเรียนวัดตากวน ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง จ.ระยอง
ซึ่งเปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนประมาณ 530 คน
นับเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่
ในการพัฒนาแบบบูรณาการ เพื่อยกระดับมาตรฐานโรงเรียนให้สอดรับกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ภายในโรงเรียน ที่จะนำไปสู่การเป็นต้นแบบโรงเรียนวิถีใหม่
ที่มีการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการ
รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์และจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพให้เอื้อต่อการเรียนการสอนที่มีความปลอดภัย
เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการราว 1 ล้านบาท
และพร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องการปรับหลักสูตรและติดตั้งอุปกรณ์ให้กับโรงเรียนอื่นๆ
ในพื้นที่ระยองต่อไป
"เนื่องจากรัฐบาลได้มีการประกาศเปิดทำการเรียนการสอนของโรงเรียนทั่วประเทศในวันที่
1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง GPSC เห็นความสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้กับเยาวชน
จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น อาทิ หน่วยส่งเสริมสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เทศบาลเมืองมาบตาพุด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
และชุมชนรอบพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำโครงการโรงเรียนวิถีใหม่ต้นแบบ ในพื้นที่
จ.ระยอง
ให้สามารถขยายผลองค์ความรู้ไปยังโรงเรียนอื่นที่มีความสนใจ
หรือโรงเรียนที่มีจำนวนครูไม่สอดคล้องกับจำนวนชั้นเรียน โดยสามารถนำรูปแบบการบริหารจัดการด้านการศึกษาในวิถีใหม่ไปประยุกต์ใช้
เพื่อยังคงรักษามาตรฐานในการป้องกันโรคโควิด- 19
ที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว" นายชวลิต
กล่าว
GPSC ได้ร่วมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนแบบบูรณาการตามหลักการ
Social Distancing ปีการศึกษา
1 / 2563 โดยมีการออกแบบตารางการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนวัดตากวน
โดยใช้วิธีสลับวันมาเรียน สอดคล้องกับตารางเรียนออนไลน์ของช่อง DLTV เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่ตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาด
รวมทั้งลดจำนวนนักเรียนที่อยู่ในชั้นเรียนตามจำนวนที่นั่งในห้องเรียนลง
จากจำนวนนักเรียน 36 คนต่อชั้นเรียนให้เหลือ 18 คนต่อชั้นเรียน
รวมถึงแนวทางประเมินผลการเรียน
การจัดระบบการเรียนการสอนในรูปแบบของกิจกรรมตามฐานที่เสริมสร้างทักษะ สาระ
ความรู้ที่หลากหลาย
และวางระบบการให้คะแนนจากการทำกิจกรรม มากกว่าการสอบข้อเขียน เป็นต้น ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาความรู้รอบด้านและสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ภายใต้สถานการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
โดยยังคงสามารถปรับวิถีการเรียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมกับการติดตามผล
ประเมินผล ระยะเวลาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน เพื่อรวบรวมข้อมูลที่ได้ นำมาประมวลผลในการจัดทำหลักสูตรการสอนแนวใหม่
ตอบโจทย์การศึกษาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกันยังได้มีการออกแบบและผลิตอุปกรณ์
เครื่องมือการเรียนการสอน ประกอบด้วย
ฉากกั้นป้องกันการแพร่กระจายเชื้อซึ่งผลิตจากแผ่นอะคริลิค เพื่อติดตั้งในห้องเรียนทุกระดับชั้น
จำนวน 264 ชิ้น เครื่องล้างมืออัตโนมัติ
จำนวน 8 เครื่อง มีการออกแบบวางระบบให้สามารถเคลื่อนที่ได้สะดวก
มีถังบรรจุน้ำอิเล็กโทรไลต์ หรือเจลเพื่อล้างมือ และการติดตั้งป้ายสื่อความ Social
Distancing ตามจุดต่างๆภายในโรงเรียน
ในการดำเนินการโครงการดังกล่าว GPSC ได้พัฒนาอุปกรณ์ และเครื่องมือต่างๆ
ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานในท้องถิ่น
เพื่อนำไปใช้และปฏิบัติในโรงเรียนวิถีใหม่ เป็นการเสริมสร้างความรู้ และความเข้าใจ
ด้านความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด- 19 ให้กับนักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรในโรงเรียน
ควบคู่ไปกับการส่งเสริมทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านช่าง
ให้กับนักเรียนสายอาชีวศึกษา และยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนที่ประสบปัญหาการว่างงาน
จากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งโครงการนี้ยังได้มีการจัดจ้างชุมชน คนว่างงาน
นักศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่าง ร่วมกันจัดทำอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อด้วย
นับเป็นแนวทางและนโยบายของ GPSC ที่จะดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล
ที่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม
โดยการเข้าไปมีส่วนในการยกระดับคุณภาพชีวิต ด้านการศึกษา สุขอนามัย
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน
นำมาซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืน