นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ
"พลังงานร่วมใจ รวมไทยสร้างชาติ" ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้แนวทาง
รวมไทยสร้างชาติ
ซึ่งเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาคเศรษฐกิจที่แข็งแรง
เช่น ภาคพลังงานที่จะสามารถเป็นตัวหลักดึงเศรษฐกิจที่อ่อนแอให้กลับมาแข็งแรงได้อีกครั้ง
เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมบนฐานความเข้าใจเข้าถึงประชาชน โดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเป็นหนึ่งเดียวของทุกภาคส่วน
"สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดยังคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและประเทศไทย
ซึ่งรวมถึงภาคพลังงานด้วย วิกฤตครั้งนี้จะยังไม่หายไปได้ในเร็ววัน
แต่อาจจะมีวันสิ้นสุดใน 12-15 เดือนข้างหน้า
สิ่งที่ภาครัฐรวมถึงกระทรวงพลังงานได้ดำเนินการแล้วในช่วงที่ผ่านมาเป็นการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า
เป็นมาตรการช่วยด้านรายได้ และลดค่าใช้จ่าย
ซึ่งจะยังคงมีการดำเนินมาตรการลักษณะนี้
โดยปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป
ขณะเดียวกันก็จะต้องดำเนินมาตรการการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยกลับคืนมาโดยเร็วและเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงโดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
จึงต้องมีการร่วมกันวางแผนขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น
กระทรวงพลังงานจึงได้จัดการประชุมเวิร์คช็อปขึ้นเพื่อรวมพลังในการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในสาขาพลังงาน
ในการกำหนดทิศทางและวางแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้พลิกฟื้นกลับมาได้อีกครั้ง" นายสุพัฒนพงษ์กล่าว
สำหรับการประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารและกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและองค์กรอิระในสังกัดกระทรวงพลังงาน
รวมถึงผู้บริหารจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการด้านกิจการพลังงาน
เพื่อสื่อสารถึงจุดมุ่งหมายและรายละเอียดในการจัดทำแผนเพื่อร่วมกันฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับทราบ
และกลับมานำเสนอแนวคิดและแผนงานในการประชุมครั้งต่อ ๆ ไป
ทั้งนี้
ภายในงานมีการบรรยายภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจากผู้แทนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
การถ่ายทอดข้อมูลสถานการณ์ผลกระทบจากโควิด-19
และตัวอย่างการพัฒนาความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนในการร่วมจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิดโดยมีการนำเสนอมุมมองคนรุ่นใหม่กับไอเดียช่วยเหลือประเทศชาติในยุคโควิดอีกด้วย
ส่วนการดำเนินนโยบายด้านพลังงานนั้น
จะเน้นนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การสร้างงานสร้างรายได้ รวมถึงวางรากฐานเพื่ออนาคตด้านพลังงานของประเทศ
โดยจะเน้นการลงมือทำให้สำเร็จ (Execution) ซึ่งได้มอบให้ผู้บริหารทำแผนระยะ 5
ปี ที่กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้ติดตามได้อย่างใกล้ชิด
สำหรับโครงการที่ต่อเนื่องจะยังคงเดินหน้าต่อไป
ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก
ให้มีรูปแบบการดำเนินโครงการที่สร้างความมั่นใจได้ว่าเกษตรกรหรือชุมชนได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง
มีความยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์ E20
หรือ B10 ก็ต้องช่วยให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์
และมีมาตรการป้องปรามการลักลอบการนำเข้าน้ำมันปาล์มที่จะใช้ในภาคพลังงานได้อย่างรัดกุม
รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยใช้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนก็ยังเดินหน้าต่อไป
โดยเน้นหนักให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้กับประชาชน