วิกฤติ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบจนทำให้พฤติกรรมและวิถีการดำรงชีวิตของคนเราไม่เหมือนเดิม ทั้งวิธีคิด วิธีเรียนรู้ วิธีสื่อสาร วิธีปฏิบัติ และการจัดการ กลายเป็นวิถีความปกติแบบใหม่ "New Normal" นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อหน่วยงานต่าง ๆ ให้ต้องปรับแผนการดำเนินงานใหม่ เพื่อให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งภาคอุตสาหกรรมพลังงานก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้จะได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แต่ก็มีความต้องการการใช้พลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย จึงได้จัดสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 ในหัวข้อ "อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัวรับ New Normal ด้านพลังงาน" เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการรับมือ รูปแบบและมุมมองในเรื่อง ของ Supply และ Demand ด้านพลังงาน รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการพลังงานซึ่งมีผู้บริหารระดับสูง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ กฟผ. เข้าร่วมสัมมนา ผ่านการถ่ายทอดสดรูปแบบ Online ผ่าน Zoom Webinar ณ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ (มทรก.) กรุงเทพฯ
ปรับแผนและนโยบายด้านพลังงานให้สอดรับกับวิกฤตการณ์และความยั่งยืน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ให้เกียรติสัมภาษณ์พิเศษผ่านคลิปวิดีโอว่า แม้อุตสาหกรรมพลังงานจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามยังคงต้องดำเนินการภายใต้วิถีของการจัดระเบียบใหม่ เพราะอุตสาหกรรมพลังงานนับเป็นภาคอุตสาหกรรมหนึ่งที่จะต้องพลิกวิกฤตนี้ให้เป็นโอกาสในการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิด การจ้างงานและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการจ้างผู้ที่ศึกษาจบในระดับปริญญาตรีหรือกำลังจะจบ รวมถึงเก็บข้อมูลการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ แล้วจัดทำเป็นฐานข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงาน (Big Data) เพื่อใช้พยากรณ์ความต้องการการใช้พลังงานในอนาคต ซึ่งในส่วนของภาครัฐก็มีทั้งกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานผู้กำกับดูแลโดยตรง รวมถึงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดที่จะร่วมดำเนินการ จากนั้นก็จะชักชวนภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องดังกล่าวนี้ต่อไป
ปรับตัวรับ New Normal ด้าน Supply
นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการยุทธศาสตร์ (ชยอ.) ได้กล่าวในส่วนของ กฟผ. ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ดูแล ด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ โดยชี้ให้เห็นผลกระทบจาก COVID-19 ที่มีต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าว่า ในปี 2563 ความต้องการพลังงานไฟฟ้าลดลงอย่างชัดเจน แม้ในเดือนพฤษภาคมมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับปี 2562 แต่ในเดือนอื่น ๆ ก็ถือว่าต่ำกว่าปี 2562 มาก นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วง Peak ของการใช้ไฟฟ้า ซึ่งมีทั้งช่วงเช้า บ่าย และเย็น โดยช่วงเย็นนั้นมีเพิ่มมากขึ้น อาจจะมากกว่าช่วงบ่ายในบางวัน นั่นหมายความว่าคนไทยเริ่มหันไปใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น
เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ กฟผ. จึงได้จัดทำแผนพัฒนา GridModernization ประกอบด้วย 1) Big DataManagement Architecture ซึ่งประกอบด้วยการทำ RE Control Center เพื่อเป็นศูนย์พยากรณ์ของประเทศ ใช้ในการคาดการณ์ และบริหาร จัดการพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการทำ National Energy Trading Platform (NETP) แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ร่วมมือกันระหว่าง 3 การไฟฟ้า 2) Pilot Flexible Plants เนื่องจาก Demand มีความเปลี่ยนแปลง จึงต้องทำให้โรงไฟฟ้าเดิมมีความยืดหยุ่นและ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้สามารถอยู่ในระบบต่อไปได้ 3) Grid Infrastructure Pilot Digital Substation ซึ่งประกอบด้วย Pilot Digital Substation คือ การปรับปรุงสถานีไฟฟ้าให้สามารถสื่อสารสั่งการได้รวดเร็ว และ FACTS installation คือ การเพิ่มอุปกรณ์ให้ระบบส่งสมดุลมากยิ่งขึ้น 4) Demand Response โดยจัดตั้งศูนย์สั่งการการดำเนินการตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Response Control Center) และในระยะยาวจะมีการพัฒนาธุรกิจรวบรวมโหลดและจัดสรรโหลด (Load Aggregator) 5) Virtual Power Plant คือ โรงไฟฟ้าเสมือนที่นำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาการใช้พลังงานในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 6) Energy Storage คือ ระบบ กักเก็บพลังงาน ซึ่งมีทั้ง Pumped Storage, Pilot Battery และ Battery โดยการดำเนินงานของ กฟผ. นี้ ได้ทำควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและชุมชน ภายใต้การขับเคลื่อน Energy, Food, Water เพื่อให้สังคมอยู่ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการปรับตัวขององค์การนั้น ชยอ. ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า กฟผ. ได้พัฒนาบุคลากรโดยการเสริมองค์ความรู้ มองหาทีมเข้ามาเสริมเพื่อเติมส่วนที่ขาด รวมไปถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้คล่องตัวขึ้น มีการวัดผลของงานให้สอดรับกับเป้าหมาย นำระบบดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากร มีช่องทางการประชุมออนไลน์ มีเครือข่ายและ มีการพัฒนาความร่วมมือกับพันธมิตร นอกจากนี้ ยังได้ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้เป็นไปในทางเดียวกัน พร้อมเพิ่มช่องทาง ให้บุคลากรได้แสดงศักยภาพ ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ก็ได้ทำ Sandbox Project เพื่อเดินหน้าองค์การสู่ Business Model ด้วย
"นอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว เราก็ได้พยายามสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินในระบบไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดภาระของประเทศ ซึ่งการปรับตัวเพื่อตอบรับ New Normal ของเรา คือส่วนหนึ่งของกลไกการทำหน้าที่สนับสนุนภาครัฐในการฟื้นฟูและประคับประคองให้ประเทศสามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์ได้" ชยอ. สรุปทิ้งท้าย
ด้านนายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้พลังงานโลกได้เปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ฟอสซิลเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ ทำให้เห็นได้ว่าพลังงานสะอาดนั้นมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และยิ่งมี COVID-19 เข้ามา ก็ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมพลังงานเชื้อเพลิงด้วยเช่นกัน เพราะ ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ดังนั้นผู้ผลิตหลายค่ายจึงลดโควตาการผลิตของตน เพื่อให้ Demand และ Supply ใกล้เคียงกัน แต่จะทำอย่างไรให้สู้กับเจ้าอื่นได้ ปตท. จึงใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมหาพันธมิตร ทำธุรกิจที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้การดำเนินงานที่เน้นความโปร่งใสและยั่งยืน โดยได้ทำระบบ 4 R ได้แก่ 1) Resilience สร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัว ในการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง 2) Restart คือ เตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจให้กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด 3) Reimagination ออกแบบธุรกิจให้รองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ 4) Reform ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับรูปแบบธุรกิจใหม่ซึ่งจะปรับต้นน้ำถึงปลายน้ำ นำพลังงานสะอาดมาใช้มากขึ้น โดยทำตั้งแต่การจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและขยายตลาด ไปขายนอกประเทศซึ่งในส่วนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายนั้น มีหลายโครงการที่ได้ดำเนินการ ทั้งการจัดการน้ำและของเสีย การทำปิโตรเคมีขั้นสูง สถานบริการเติมไฟฟ้า การให้บริการ Logistic รวมถึงยา อาหารเสริม และพลังงานทดแทน
ปรับตัวรับ New Normal ด้าน Demand และ Technology
นายชาติชาย ภุมรินทร์ รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เผยถึงแนวทางการปรับตัวรับ New Normal ของ กฟภ. ว่า โครงข่ายจะต้องเสริมความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า ทั้งในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าการสร้างระบบบริหารจัดการพลังงานอัจฉริยะ และการพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ตอบสนองความต้องการพิเศษของลูกค้า ซึ่งในเรื่องเหล่านี้ ปัจจุบัน กฟภ. ได้ดำเนินการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าแล้วจำนวน 11 แห่ง รวมทั้งมีความร่วมมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าภายในปี 2564 จะทำการติดตั้งอีก 62 แห่งทั่วประเทศในถนนสายหลักทุก ๆ ระยะทาง 100 กิโลเมตรภายในสถานีบริการน้ำมันบางจาก เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้านนายวิลาศ เฉลยสัตย์ รองผู้ว่าการบริการระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ชี้ว่า การดำเนินงานของ กฟน. ที่สอดคล้องกับ New Normal มีทั้งการรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบ การติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในที่ทำการ กฟน. เกือบทุกแห่ง รวมถึงการนำหม้อแปลงที่มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นมาใส่ไว้ในระบบไฟฟ้าของ กฟน. เพื่อช่วยลดความสูญเสียพลังงาน ในกรณีที่ไม่ได้จ่ายโหลด ช่วยให้ประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าดีขึ้น และรักษาเสถียรภาพของระบบไปพร้อม ๆ กันด้วย นอกจากนี้ สิ่งที่ กฟน. ได้พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นตลอดมานั่นคือระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะแห่งอนาคตสำหรับเมืองมหานคร หรือ Smart Metro Grid เพื่อตอบสนองความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับการบริการที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น และมีการจัดการโหลดของหม้อแปลงที่เตรียมไว้ต่อกับสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับปริมาณยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะมีการใช้งานอย่างเต็มสูบภายในปี 2565 ในบริเวณถนน 4 เส้นในกรุงเทพมหานคร คือ ถนนเพชรบุรี ถนนพญาไท ถนนรัชดา และถนนพระรามที่ 4
วิกฤตการณ์ต่าง ๆ อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาโดยไม่ทันคาดคิด ดังนั้นความยืดหยุ่นและการปรับตัวของหน่วยงานต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรม ด้านพลังงานเท่านั้น แต่รวมถึงทุกอุตสาหกรรม ทุกหน่วยงาน เพราะอย่างไรแล้วพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ตามเหตุการณ์ ตามเวลา และยุคสมัยอยู่เสมอ การปรับตัวได้ไวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงจะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้
ที่มา : การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย