นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด
(มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19
และราคาน้ำมันโลกที่ผันผวน ต่อเนื่องจากปี 2563
สู่ปี 2564 ทำให้บางจากฯ ให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่กระชับ
คล่องตัว ปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ พร้อมปรับองค์กรเพื่อความยั่งยืนผ่านแนวคิด 3Rs
– Refocus: การเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด Restructure:
การปรับองค์กรเพื่อสร้างช่องทางในการเข้าถึงตลาดและลูกค้า และ Reimagine:
การใช้โอกาสและเครื่องมือในการลงทุนที่เหมาะสม
เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท
โดยกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและค้าน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยทั้งสองมากที่สุด
ได้มีการปรับโรงกลั่นเป็น niche products refinery นำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
ออกสู่ท้องตลาด จากเดิมที่ผลิตน้ำมันประเภทต่างๆ บริษัทได้ขยายเป็นผู้ผลิต UCO
(Unconverted Oil) รายเดียวในประเทศไทย
และในปีนี้ได้ขยายและปรับเปลี่ยนเพื่อให้ได้ความหลากหลายเพิ่มขึ้นอีก เช่น
สารทำละลาย (solvent) ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติในการทำละลายและเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ
เช่น อุตสาหกรรมสี ทินเนอร์ การผลิตเรซิน โดยเมื่อเร็วๆ
นี้ได้เริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสารทำละลายภายใต้ชื่อ BCP White Spirit
3040 และยังวางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์หลากหลายในอนาคตอันใกล้
เช่นนำน้ำมันเตาเกรดพิเศษใช้เป็นสารตั้งต้นของการผลิต wax เพื่อนำไปผลิตเทียนไข
น้ำยาขัดเงา สารเคลือบภาชนะกระดาษ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มธุรกิจการตลาด
สถานีบริการน้ำมันบางจากสามารถครองความนิยมเป็นลำดับที่ 1
ในใจของผู้ใช้บริการจากดัชนีวัดความพึงพอใจของลูกค้าตามผลประเมิน Net
Promoter Score (NPS) ต่อเนื่อง 2
ปีซ้อน ก็มีแผนรักษาความพึงพอใจของลูกค้า ด้วยการทำให้สถานีบริการน้ำมันบางจากเป็น
"greenovative destination" พร้อมหาทางขยายธุรกิจทั้งในส่วนของสถานีบริการและธุรกิจ
non-oil อย่างต่อเนื่อง
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
ตั้งเป้าเป็นผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน มีแผนขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ
และได้เพิ่มทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทไปเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งบางจากฯ
ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มสัดส่วนเพื่อเสริมฐานะทางการเงินของบีซีพีจีให้มีความแข็งแกร่ง
รองรับแผนขยายธุรกิจในอนาคต ในขณะที่บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ขยายธุรกิจสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง
ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของประเทศด้วย bio economy ผ่านการลงทุนใน
Manus Bio Inc. ผู้นำธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพระดับโลก
นอกจากนี้
ยังมีแผนขยายธุรกิจผ่านนวัตกรรมพลังงานสีเขียวอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการจักรยานยนต์และสามล้อไฟฟ้า
และการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (battery swapping) โดยตั้งเป้าหมายขยาย
Winnonie สตาร์ทอัพให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในกลุ่มบางจากฯ
เป็น 10,000 คันในปี 2566
และได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในการขยายจุดชาร์จรถพลังงานไฟฟ้า
EV Charger ในสถานีบริการน้ำมันบางจากไม่น้อยกว่า 150
สาขาทั่วประเทศ ภายในปี 2564
การควบคุมค่าใช้จ่ายนับเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤติ
ในปี 2563 บริษัทฯ สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ 900
ล้านบาท และมีการปรับโครงสร้างการลงทุน ใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมในการบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการลงทุน
สำหรับปี 2564 ได้จัดทำงบประมาณ 3
ชุด คือกรณีฐาน (base case) กรณีที่เป็นไปได้ (likely case)
และกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case) เพื่อเลือกใช้ตามสถานการณ์
"ปี 2563 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปเปรียบเสมือนกับการกดปุ่ม
"reset" ตั้งต้นใหม่ในหลายๆ
ด้านเพื่อให้เกิดกระบวนการทำงานที่กระชับ คล่องตัว
พร้อมรับสถานการณ์จะเกิดขึ้นในปี 2564
ทั้งนี้ กลุ่มบางจากฯ
ยังคงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มรายได้ธุรกิจสีเขียวเป็น 40-50% ในปี
2567 และตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี
2573" นายชัยวัฒน์กล่าว