สนช.เตรียมชงกรรมการชุดใหญ่พิจารณากฎหมายปิโตรเลียมฯ 12พ.ค.นี้
พลเอก สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่คณะอนุกรรมาธิการทั้ง3ชุด คือชุดศึกษาปัญหาการบังคับใช้พ.รบ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ,ชุดศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และ ชุดรับฟังความคิดเห็นประชาชน จะนำสรุป เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ ให้ความเห็นชอบในวันที่11พ.ค. 2558 หลังจากนั้นก็จะนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 12พ.ค.2558 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดการศึกษาที่ใช้ระยะเวลา3เดือนตามที่รัฐบาลกำหนด ก่อนที่จะส่งผลการศึกษาและข้อเสนอแนะต่างๆ ให้กับรัฐบาลต่อไป
ทั้งนี้การพิจารณาตัดสินใจที่จะปรับปรุงแก้ไขผลการศึกษาของทางสนช. ถือเป็นอำนาจของรัฐบาล ที่อาจจะมอบหมายให้ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้ศึกษาถึงผลดีและผลเสียของผลการศึกษาฉบับ สนช. ก่อนที่จะยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 กลับมาที่ สนช.เพื่อดำเนินการตราเป็นกฏหมาย บังคับใช้ต่อไป อย่างไรก็ตามโดยส่วนตัวมองว่า รัฐบาลจะไม่แก้ไขปรับปรุงข้อเสนอส่วนที่เป็นสาระสำคัญเพื่อไม่ให้กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชน ที่ปัจจุบัน เงื่อนไขความขัดแย้งที่เคยมีมา นั้นคลี่คลายไปมากแล้ว
ทั้งนี้ข้อเสนอที่ทางผู้แทนคณะอนุกรรมาธิการทั้ง3ชุดนำเสนอบนเวทีสัมมนานั้น เน้นตีกรอบการดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยให้รัดกุมขึ้น โดยลดสิทธิประโยชน์ที่เอกชนเคยได้รับจากเดิม และการนำรายจ่ายมาหักคืนภาษี เพื่อให้รัฐได้รับผลประโยชน์มากขึ้น ไม่ว่าจะดำเนินการภายใต้สัญญาสัมปทาน ,สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญารับจ้างผลิต
โดยสาระสำคัญคือการเสนอให้นำระบบอื่นๆมาใช้นอกเหนือจากระบบสัมปทานนั้น ในกรณีการนำระบบแบ่งปันผลผลิต มาใช้ในประเทศไทยจะต้องมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สัดส่วนของอัตราค่าภาคหลวง อัตราต้นทุนของภาคเอกชนที่อนุญาตให้นำมาหักออก อัตราภาษีเงินได้ และสัดส่วนของการแบ่งปันผลผลิต จะต้องนำมาทบทวน เพื่อให้สัดส่วนรายได้โดยรวมของประเทศไทยดีกว่าหรืออย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่าระบบสัมปทานปัจจุบัน
กรณีนำรูปแบบกิจการร่วมค้า(จอยส์เวนเจอร์)มาใช้ อาจจะพิจารณานำการจัดเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาปรับใช้ โดยไม่จำเป้นต้องออกกฎหมายเป็นการเฉพาะ ส่วนกรณี การนำสัญญาบริการ มาใช้อาจพิจารณานำการจัดเก็บภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาปรับใช้ โดยไม่จำเป็นต้องออกฏหมายเป็นการเฉพาะและไม่มีความจำเป็นต้องแก้ไขกฏหมายใดใด
.......................