กพช.กำหนดกรอบ1ปีเลือกเอกชนเดินหน้าสัมปทานฯที่จะหมดอายุ
ในวันนี้ (14 พ.ค. 2558) ปัญหาด้านพลังงานหลายอย่างได้ถูกอนุมัติให้ดำเนินการแก้ไข
โดยผ่านความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีแล้ว โดยนายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ที่มีพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เวลากระทรวงพลังงาน
1 ปี ตั้งอนุกรรมการพิจารณาเร่งคัดเลือกเอกชนมาดำเนินการผลิตปิโตรเลียมให้ได้ก่อนที่สัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช
และเอราวัณ จะหมดอายุในปี 2565-2566 แต่ต้องศึกษาระบบเรียกเก็บผลประโยชน์เข้ารัฐใหม่
โดยให้พิจารณาว่าจะใช้ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต(พีเอสซี) หรือระบบจ้างผลิต อย่างเหมาะสมกับประเทศไทย
รวมทั้งต้องศึกษาการให้ภาครัฐเข้าไปร่วมทุนในครั้งนี้ด้วย
สำหรับแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุได้แก่
แหล่งบงกชเหนือและใต้ ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)
กำลังผลิตก๊าซธรรมชาติ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งเอราวัณ ของบริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กำลังผลิต 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
รวมทั้งสองแหล่งคิดเป็น 76% ของการผลิตก๊าซฯทั้งหมดในอ่าวไทย หรือประมาณ 2,100-2,200
ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ทั้งนี้หากดำเนินการหารายใหม่มาผลิตก๊าซฯต่อไม่ทันจะทำให้ไทยต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)
ที่นำเข้าจากต่างประเทศมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแทน
และจะทำให้ค่าไฟฟ้าพุ่งขึ้น 85 สตางค์ต่อหน่วย
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาว
21 ปี พ.ศ. 2558-2579 (พีดีพี 2015 ) ซึ่งจะลดสัดส่วนการใช้ก๊าซฯผลิตไฟฟ้าเหลือเพียง
40% จากปัจจุบันใช้กว่า 68% เพิ่มถ่านหินจาก
19% เป็น 20-25% เพิ่มพลังงานหมุนเวียนจาก
8% เป็น 15-20% ซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ
15-20% และเลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไปอยู่ปลายแผนปี 2579 ในสัดส่วน 5% ของสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งนี้จะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ย1.9% ต่อปี และค่าไฟฟ้าเฉลี่ย21 ปี อยู่ที่ 4.58 บาทต่อหน่วย ส่วนกรณีสำรองไฟฟ้าพุ่งสูงสุดกว่า
30% ของปริมาณไฟฟ้าปกติ ในปี 2562-2567 ซึ่งจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นด้วยนั้น ทาง
กพช. สั่งการให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
พร้อมกันนี้ยังเห็นชอบแผนระบบรับส่งและโครงสร้างท่อก๊าซธรรมชาติ
โครงการระยะที่1 โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการ 3
โครงการ อาทิ โครงการปรับปรุงท่อก๊าซฯขนอมใหม่
โครงการท่อในทะเลเชื่อมต่อแหล่งก๊าซฯอุบลในอ่าวไทย เป็นต้น วงเงินลงทุน 13,900 ล้านบาท
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน
กล่าวว่า สำหรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 นั้น อาจจะต้องเลื่อนออกไปอีก
หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมได้เสร็จตามกรอบเวลา
3 เดือน(มี.ค.-พ.ค. 2558)
ดังนั้นกระทรวงพลังงานอาจต้องเลื่อนการเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมออกไปอีกครั้งหลังจากเลื่อนมา
2 รอบแล้ว
นายชวลิต พิชาลัย
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กล่าวว่า นอกจากนี้
กพช.ยังได้เห็นชอบปรับลดสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปลงเหลือ 1% จากเดิมสำรองอยู่ 5% เท่ากับเหลือสำรองเพียง
4 วัน จากเดิมสำรอง 18 วัน แต่ให้คงสำรองน้ำมันดิบไว้ 6% หรือกว่า
21 วัน ตามเดิม
เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงและการขนส่งน้ำมันในตลาดโลกสะดวกขึ้น รวมทั้งจะทำให้ผู้ค้าน้ำมันนำน้ำมันออกมาขายเกิดการแข่งขันด้านราคาในอนาคต
และจะทำให้ราคาลดต่ำกว่า 9-10 สตางค์ต่อลิตรภายในเดือนมิ.ย. 2558 นี้
อย่างไรก็ตามหากราคาน้ำมันโลกปรับขึ้นสูงอีกครั้ง
กระทรวงพลังงานสามารถออกประกาศสำรองน้ำมันเพิ่มภายใน 1 เดือนและเสนอเข้า กพช.ได้
นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือ เรกูเลเตอร์
กล่าวว่า เรกูเลเตอร์ได้ยกเลิกสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้า 99 โครงการ 354 เมกะวัตต์
เนื่องจากไม่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเลยกำหนดขายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว
นอกจากนี้ยังจับตามองอีก 83 โครงการ 1,482 เมกะวัตต์
ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะผลิตไฟฟ้าไม่ทันตามสัญญา
โดยหากไม่สามารถผลิตได้ตามกำหนดทางเรกูเลเตอร์จะบอกเลิกสัญญา และนำปริมาณไฟฟ้าที่เหลือทั้งหมดประมาณ
1,836 เมกะวัตต์ ไปให้ทางกระทรวงพลังงานจัดสรรเป็นนโยบายต่อไป
นายทวารัฐ สูตะบุตร
รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ได้มีการรายงาน กพช. เกี่ยวกับผลการศึกษาสายส่งไฟฟ้าในอนาคตพบว่า
ในช่วง 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561)
จะเกิดปัญหาสายส่งไม่เพียงพอรองรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยเฉพาะในภาคอีสาน โดยการศึกษาพบว่าสายส่งไฟฟ้าจะมีขีดจำกัดรองรับได้เพียงแค่
3,400 เมกะวัตต์เท่านั้นในช่วง 3 ปีดังกล่าว
ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 1,800 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(พีอีเอ)
1,600 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ กพช. ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ส่วนโครงการประมูลผลิตไฟฟ้าด้วยระบบขอรับเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง(ฟีทอินทารีฟ
บิดดิ้ง) นั้น ได้ขออนุมัติ กพช. เลื่อนการเปิดประมูลไปเป็นเดือน ก.ค. 2558 แทน จากเดิมที่จะเริ่มในไตรมาสแรกของปี
2558 ทั้งนี้เนื่องจากรายละเอียดยังไม่เรียบร้อย
อย่างไรก็ตามนายกฯ
ได้มอบหลักการให้ดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ 1. ฟีทอินทารีฟ บิดดิ้ง
สำหรับโรงไฟฟ้าที่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชีวมวล
โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม และ 2. กลุ่มที่ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้
โดยต้องพิจารณาตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่มีศักยภาพ ได้แก่
โรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าขยะ
โดยทั้งสองกลุ่มจะต้องเข้าระบบผลิตไฟฟ้าพร้อมกันใน 3 ปีจากนี้
ซึ่งกระทรวงพลังงานจะรับไปดำเนินการต่อไป
-------------------------------