ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท
ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่า
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
· อุปทานลิเบียลดลง โดย National
Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน
ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
มาอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อ ทั้งนี้ธนาคารแห่งชาติของลิเบียไม่อนุมัติงบประมาณให้
NOC ตั้งแต่เดือน ก.ย. 63 และ Arabian Gulf
Oil Co. (AGOCO) บริษัทลูกของ NOC ประกาศเหตุสุดวิสัย
(Force Majeure) หยุดส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Hariga (120,000
บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 64
· กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ
รายงานยอดขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่
17 เม.ย. 64 ลดลง 39,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 547,000 ราย
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และนับเป็น 2 สัปดาห์ติดต่อกันที่ยอดดังกล่าวต่ำกว่า 700,000
รายนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
· EIA ของสหรัฐฯ
รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 16 เม.ย. 64 เพิ่มขึ้น 0.6
ล้านบาร์เรลจาก สัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 493.0 ล้านบาร์เรล
สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ซึ่งคาดว่าจะลดลง 3 ล้าน บาร์เรล
แนวโน้มราคาน้ำมัน
จากการวิเคราะห์ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ
ICE Brent ในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง $63-$68/BBL
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ COVID-19 อาจกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
และอุปสงค์พลังงานโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว จากมาตรการจำกัดการสัญจร
ทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ณ วันที่ 25 เม.ย. 64
ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 354,531 ราย สะสมอยู่ที่ 17.3 ล้านราย
และยอดรวมผู้เสียชีวิตอยู่ที่ระดับ 1.9 แสนราย และให้ติดตามการประชุมระหว่างอิหร่านกับประเทศมหาอำนาจเพื่อกลับมาสู่ข้อตกลงนิวเคลียร์
ที่มีการตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการเจรจาต่อรอง
หากประสบผลสำเร็จจะทำให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน
และอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้เต็มกำลัง