นายจรัญ คำเงิน ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.
ได้ประสานงานกับสำนักงานพลังงานจังหวัด (สพจ.) หน่วยงานเจ้าของสถานที่ต่าง ๆ ทั้ง
76 จังหวัดทั่วประเทศ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งติดตั้งอุปกรณ์ Sensor ภายใต้โครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน
Sensor for All ซึ่ง กฟผ. ได้ร่วมมือกับ จุฬาฯ และพันธมิตร
พัฒนาขึ้น ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในเดือนตุลาคมนี้
ตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
จากการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564
ที่ผ่านมา
โดยมุ่งหวังให้เกิดการขยายผลการนำแอปพลิเคชันดังกล่าวไปใช้งานในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon
Neutral) ในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้
กระทรวงพลังงานได้พิจารณาให้ติดตั้ง Sensor เพิ่มอีกจังหวัดละ
3 จุด รวมทั้ง 76 จังหวัด เป็น 228 จุด
โดยมุ่งให้ติดตั้งในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าหรือโรงงานขนาดใหญ่
สี่แยกไฟแดงหรือเขตถนนที่มีการจราจรหนาแน่น และสถานที่ท่องเที่ยวประจำจังหวัด โดย
กฟผ. จะร่วมสนับสนุนงบประมาณค่าเครื่อง Sensor พร้อมค่า
Sim card และค่าบำรุงรักษาเซนเซอร์ตลอดระยะเวลา 3 ปีแรก
รวมถึงสนับสนุนการติดตั้ง Sensor ตามจุดเป้าหมายดังกล่าว
ซึ่งหากเป็นบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชนก็จะเพิ่มการติดตั้งจอแสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศ
(Display Billboard) เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้ข้อมูลประชาชนเพิ่มเติมจากการติดตามผ่านทางแอปพลิเคชัน
Sensor for All ด้วย
โดยนับตั้งแต่ปี 2563
ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กฟผ. ได้ร่วมกับ จุฬาฯ และพันธมิตร
ในการพัฒนาแอปพลิเคชันและติดตั้ง sensor แล้วประมาณ 200 จุดทั่วประเทศ
และในอนาคต กฟผ. ยังเตรียมขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านข้อมูลคุณภาพอากาศร่วมกับแพลตฟอร์มอื่น
ๆ เพื่อให้เกิดเป็น Big Data ปรากฏอยู่ภายในแอปพลิเคชัน Sensor
for All เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว
ปัจจุบัน
ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลรายงานผลคุณภาพอากาศแบบ Real Time ได้ตลอด
24 ชม. ผ่านแอปพลิเคชัน Sensor for All โดยสามารถดาวน์โหลดผ่าน App
Store และ Play Store และผ่านทาง
website https://sensorforall.eng.chula.ac.th/ เพื่อเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน