นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บมจ.บางจากฯ กล่าวว่า บางจากฯ จับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชน
จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 2 ฉบับ ประกอบด้วยบันทึกข้อตกลง "โครงการเสริมสร้างสวัสดิการให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(อพม.)" และบันทึกข้อตกลง "โครงการพัฒนาตู้เติมน้ำมันอัจฉริยะระบบดิจิทัล"
เพื่อร่วมดำเนินการในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการตู้เติมน้ำมันอัจฉริยะระบบดิจิทัล
ภายใต้ชื่อ "ตู้กระทิง"
บางจากฯ
ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมสีเขียวเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
บางจากฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ตู้เติมน้ำมันอัจฉริยะระบบดิจิทัล "ตู้กระทิง"
จะได้มีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ
ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญเพื่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น
อีกทั้งยังเป็นช่องทางช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ อพม. ในรูปแบบของสวัสดิการ
โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลและการประสานความร่วมมืออันดีระหว่างภาครัฐและเอกชน
"ตู้กระทิง" เกิดจากการนำเสนอแนวคิดของพนักงานภายในองค์กรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมองค์ความรู้ใหม่
ๆ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม สามารถนำไปต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจได้
ซึ่งในวันนี้มีการลงนามข้อตกลงอีก 1 ฉบับ "โครงการพัฒนาตู้เติมน้ำมันอัจฉริยะระบบดิจิทัล"
ระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท
ไมโครออยล์แอนด์รีเทล จำกัด และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด โดยบางจากฯ
จะทำงานร่วมกับไมโครออยล์และดีแทคในการดำเนินการติดตั้งและบริหารตู้เติมน้ำมันและจัดทำระบบสื่อสารเพื่อใช้ในการจัดตั้งเครือข่ายตู้กระทิงในพื้นที่ต่าง
ๆ ทั่วประเทศ
ทำให้ตู้กระทิงเป็นแพลตฟอร์มให้บริการน้ำมันคุณภาพที่เข้าถึงระดับชุมชนเล็ก ๆ
ช่วยส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงพลังงานที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน
และต่อยอดขยายไปสู่บริการอื่น ๆ นอกเหนือจากบริการด้านน้ำมันในอนาคต
เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นได้อย่างรอบด้าน
นางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(พม.) กล่าวว่า
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
(พส.) มีนโยบายส่งเสริมสวัสดิการให้กับ อพม. ด้วยการเข้าร่วมโครงการ "นวัตกรรมตู้น้ำมันชุมชนเพื่อความยั่งยืน"
กับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท
ไมโครออยล์แอนด์รีเทล จำกัด
ซึ่งได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 5
จังหวัดในพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร
และสุพรรณบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ อพม. ที่มีความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ
จัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการติดตั้งตู้เติมน้ำมันระบบดิจิทัล 1,000 แห่งทั่วประเทศ
ภายในปี 2565 เป็นการนำนวัตกรรมเข้าสู่ชุมชนที่ห่างไกลสถานีบริการน้ำมัน
ทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงน้ำมันที่มีคุณภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยีอื่น
ๆ เช่น การเติมเงินมือถือ และการจ่ายบิลค่าน้ำ - ไฟฟ้า เป็นต้น โดย อพม.
ที่เข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับสวัสดิการเป็นส่วนแบ่งรายได้และสิทธิพิเศษจากการเติมน้ำมันด้วยตู้เติมน้ำมันระบบดิจิทัลตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
ทั้งนี้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชน
สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals:
SDGs) เป้าหมายที่ 9 :
สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน
ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
นายสกล สัจเดว กรรมการผู้จัดการ
บจ.ไมโครออยล์แอนด์รีเทล (Micro OR) กล่าวว่า
บริษัทมีความยินดีที่ได้ร่วมกับบริษัท บางจากฯ และบริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น พัฒนานวัตกรรมตู้น้ำมันอัจฉริยะและนำพานวัตกรรมนี้สู่ชุมชน
เพื่ออำนวยความสะดวกให้ได้รับบริการที่ครอบคลุมความต้องการในชีวิตประจำวัน
ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำมันที่มีคุณภาพและการเติมเงินชำระบิลและบริการอีกมากมายได้ที่ตู้นี้ตลอด
24 ชม. และขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ที่ร่วมเล็งเห็นถึงคุณค่าของโครงการนี้ด้วยการนำตู้กระทิงไปติดตั้งและนำส่วนแบ่งรายได้มอบให้กับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
(อพม.) เพื่อเป็นขวัญกำลังใจที่เสียสละเพื่อสังคมตลอดมา โดยทาง Micro OR จะมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมดี
ๆ ออกมาเพื่อประโยชน์ของสังคมและส่งเสริมให้มีธุรกิจเริ่มต้นในชุมชน หรือ Micro
Startup ในระดับชุมชนเพื่อความเข้มแข็งของชุมชนและเกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในชุมชนต่อไป
นายซาดัท อิบเน ซามาน
รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส
คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคมีความยินดีที่ได้ร่วมมือกับบริษัท
บางจากฯ และบริษัท ไมโครออยล์ฯ นำนวัตกรรมไปสู่ชุมชนด้วยตู้กระทิง
ตู้เติมน้ำมันอัจฉริยะตู้แรกของไทยที่ใช้เทคโนโลยี IoT ซิมการ์ดจาก
dtact business ที่สามารถตรวจสอบปริมาณการเติมน้ำมันต่อครั้ง
จำนวนเงินที่เติม ตลอดจนความถี่พฤติกรรมการใช้งานที่นำความเชี่ยวชาญจาก dtac
business มาเชื่อมต่อข้อมูลด้วยซิมการ์ดประเภทรับส่งดาต้า
(data simcard) เพื่อใช้สำหรับควบคุมและประมวลผลข้อมูลการทำงานของตู้ตลอด
24 ชั่วโมง ซึ่งหากตู้ไหนขัดข้องหรือพบพฤติกรรมการใช้งานผิดปรกติ
ระบบจะส่งข้อมูลไปยังหน่วยควบคุมกลางเพื่อทำการตรวจสอบทันที
ทั้งยังสามารถนำข้อมูลจากระบบมาศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาธุรกิจตู้เติมน้ำมันระบบดิจิทัลเพื่อพัฒนา
business model และกระบวนการทำงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อไป