กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติโต้ คปพ. ชี้ร่างกม.ปิโตรเลียมไม่มีนอกมีใน
ร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่กำลังแก้ไขกันอยู่ในขณะนี้ มีการจัดทำออกมาจาก2ฝ่ายคู่ขนานกันไป ระหว่างฝั่งกระทรวงพลังงาน กับ ฝั่งกลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน(คปพ.) ซึ่งขณะนี้ ทางด้านกระทรวงพลังงานได้นำเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว ขณะฝั่ง คปพ.ก็จัดทำเข้าสูการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทั้งนี้คงต้องอยู่ที่ สนช.และ ครม.จะเลือกร่างกฎหมายของฝ่ายใดมาใช้เปิดสำรวจปิโตเลียม หรือจะมิ๊กแอนด์แมช ก็ต้องตามดูกันต่อไป แต่ล่าสุด คปพ.ออกมาโจมตีคัดค้านร่างกฎหมายที่ฝ่ายกระทรวงพลังงานจัดทำขึ้น ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ออกมาชี้แจงแล้ว
โดย นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯยืนยันว่า ร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่กรมฯ จัดทำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ซึ่งความความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากผ่านความเห็นชอบจะส่งเรื่องไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป อย่างไรก็ตามยืนยันว่าร่างกฎหมายดังกล่าวมีการจัดเก็บเงินเข้ารัฐไม่น้อยกว่าที่ควรเป็น รวมทั้งการให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นอำนาจของ ครม. ตามกฎหมาย ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานไม่สามารถเข้าไปเจรจาทางลับกับเอกชนผู้ขอสิทธิ์สำรวจได้
นอกจากนี้ผู้รับสิทธิ์สำรวจไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมหรือระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบอื่นๆ เนื่องจากประเทศไทยไม่ใช่แหล่งผลิตปิโตรเลียมขนาดใหญ่ที่จะสามารถเลือกระบบตามความชอบได้ แต่ภาครัฐจะกำหนดชัดเจนว่าแต่ละแปลงจะใช้ระบบแบ่งปันผลประโยชน์แบบใด โดยเบื้องต้นคาดว่า แปลงปิโตรเลียมทั้งหมด 29 แปลง อาจให้ใช้ระบบพีเอสซี 3 แปลง ในอ่าวไทย ซึ่งเป็นแปลงที่มีโอกาสขุดพบปิโตรเลียมสูง ส่วนอีก 26 แปลง อาจใช้ระบบสัมปทานปิโตรเลียม 3 พลัส
ทั้งนี้หากทั้ง 3 แปลงที่ใช้ระบบพีเอสซี ตามที่กลุ่มเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน(คปพ.)ต้องการให้มีระบบพีเอสซีนั้น ไม่มีเอกชนรายใดมาขอสำรวจผลิตจริง ทางกรมฯอยากเรียกร้องให้ คปพ. เข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย กรณีที่ไทยเสียโอกาสผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น
ส่วนกรณีสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 นั้น ทาง คปพ.เสนอให้แก้ไขสัญญา เพื่อให้ภาครัฐเข้าไปสำรวจพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นของรัฐก่อนสิ้นอายุสัญญาล่วงหน้า 5 ปีนั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุนด้วย และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่เสนอโดย คปพ. เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของไทย และระบบการจัดเก็บรายได้มิได้เพิ่มสัดส่วนรายได้ของรัฐแต่อย่างใด
นายชยุตพงศ์ นันท์ธนะวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงธรรมชาติ และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กล่าวว่า สำหรับร่างกฎหมายปิโตรเลียม ที่ คปพ. จัดทำขึ้นคู่ขนานกับของกรมฯ และนำเสนอ สนช. นั้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่า เป็นร่างกฎหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง เนื่องจากมุ่งเน้นเพียงการกำหนดว่า เอกชนรายใดให้ผลประโยชน์กับภาครัฐมากกว่าจะได้รับสิทธิ์ให้สำรวจได้เลย โดยที่ไม่มีข้อมูลหรือกฎหมายผูกพันว่าจะผลิตผลิตปิโตรเลียมจริง ซึ่งหากไม่เกิดการผลิตจริงจะทำให้ไทยเสียโอกาสการพบน้ำมันและก๊าซฯเพิ่มในไทย
ขณะที่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมของกรมฯ รัดกุมกว่า โดยมีกฎหมายกำหนดการประกวดแข่งขันทั้งราคาและปริมาณงานที่ชัดเจน มีการผูกพันธ์ให้ต้องผลิตจริง ไม่เช่นนั้นจะยึดเงินประกัน เป็นต้น เช่น หากเอกชนเสนอผลิต 3 หลุม ใช้เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท แต่อีกรายเสนอผลิต 1 หลุม ใช้เงินลงทุน 500 ล้านบาท ทางกรมฯต้องเลือกผู้ผลิต 3 หลุมก่อน เพราะมีโอกาสในการสำรวจและขุดพบมากกว่า ซึ่งกรมฯ ต้องการให้มีการผลิตจริง เพื่อให้ปริมาณสำรองก๊าซฯ ในประเทศเพิ่มขึ้นรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯของไทยในอนาคต
-----------------------