ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม
และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
การลงนามสัญญาการใช้ความสามารถการให้บริการสถานี (Terminal Use Agreement -
TUA) ระหว่างบริษัท บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด ในครั้งนี้
นับเป็นก้าวสำคัญของการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย
ที่จะทำให้ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) เอกชน
ได้เข้ามาใช้บริการการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติ
ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่มีบทบาทสำคัญสำหรับกิจการก๊าซธรรมชาติของประเทศไทย
ภายหลังจากที่ภาครัฐ
โดยกระทรวงพลังงานและ กกพ. ได้กำหนดแนวทางส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ
โดยเปิดให้เอกชนสามารถขอใบอนุญาตเป็น shipper เพื่อนำเข้า
LNG ได้ ทั้งนี้ เมื่อนำเข้า LNG เข้ามาแล้ว
ต้องมีการนำมาแปรสภาพจากของเหลวเป็นก๊าซที่สถานี LNG Terminal ของ
บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด และส่งเข้าระบบท่อส่งก๊าซฯ ของ PTT เพื่อส่งไปยังลูกค้าปลายทางทั้งโรงไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่างๆ
ต่อไป
บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็น shipper
1 ใน 7 ราย ที่ได้ใบอนุญาตจัดหาค้าส่งก๊าซธรรมชาติจาก
กกพ. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563
โดยบริษัทได้เตรียมความพร้อมทั้งในการเจรจาสัญญาซื้อ LNG กับผู้ขายชั้นนำของโลก
ตลอดจนความพร้อมในการขอใช้บริการสถานี PTT LNG Terminal (LMPT-1) แห่งที่
1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
โดยได้ยื่นจอง LMPT-1 กับ บริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2564
จำนวน 5 แสนตันต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปี
(ปี 2566 - 2572) โดยมติ กกพ. เมื่อวันที่ 8
ธันวาคม 2564 เห็นชอบให้ บริษัท บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด
ได้รับการจัดสรรปริมาณการจองใช้ LMPT-1 ปริมาณ 0.5
ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ปี 2566 – 2572
เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2
ได้อย่างเหมาะสม
"หลังการลงนามในสัญญา TUA ในครั้งนี้
นอกจากเป็นก้าวสำคัญของการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยแล้ว จะถือว่า บริษัท
บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด เป็นบริษัทเอกชนที่มีความสามารถพร้อมนำเข้า LNG เป็นรายแรกของประเทศ
โดยคาดว่าเรือขนส่ง LNG เชิงพาณิชย์เที่ยวแรกจากสัญญาจัดหา LNG ระยะยาวจะสามารถมาส่งมอบที่
LMPT-1 ได้ภายในต้นปี 2566 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเสรีในกิจการก๊าซธรรมชาติระยะที่
2 ภายในประเทศอย่างแท้จริง" ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว