นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า
"ธุรกิจการกลั่นปรับตัวดีขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น
หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว อุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับมาดำเนินการได้เต็มที่
และหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
เพื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม
สถานการณ์ราคาน้ำมันจะยังคงมีความผันผวนอยู่มาก ดังนั้น
ไทยออยล์จึงต้องเตรียมความพร้อมเร่งเสริมความแข็งแกร่งรอบด้าน
โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งของธุรกิจการกลั่น เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน
รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่
การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) และ
การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย
รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ
แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve)
เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต
เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน"
ภายใต้วิสัยทัศน์ "สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน"
นายธนิก ธราวิศิษฏ์ รองผู้จัดการใหญ่
ผู้บริหารสายงาน Investment Banking and Capital Markets ธนาคารไทยพาณิชย์
จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด
(มหาชน) หรือ TOP ให้แก่ประชาชนทั่วไป
และผู้ถือหุ้นเดิมของไทยออยล์ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นตามสัดส่วนการถือหุ้น
ล่าสุด ได้กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน (XB) วันแรกในวันที่
18 สิงหาคม 2565
และกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นของไทยออยล์ (Record Date) ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งใหม่
เป็นวันที่ 19 สิงหาคม 2565
โดยไทยออยล์จะแจ้งราคาเสนอขาย อัตราการจองซื้อ ระยะเวลาการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุน
และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
จะจัดสรรและเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering) จำนวนไม่เกิน
239,235,000 หุ้น
รวมถึงจัดสรรเพื่อเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมของไทยออยล์ ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80%
ของหุ้นสามัญที่ออกและเสนอขายครั้งนี้ (ไม่รวมจำนวนหุ้นที่ผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินอาจใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากไทยออยล์ในกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
โดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำใหไทยออยล์มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ
นอกจากนี้ ไทยออยล์ อาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน
(Over-Allotment) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น
คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดที่เสนอขายครั้งนี้
โดยสรุปการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปและการจัดสรรหุ้นส่วนเกินในครั้งนี้
รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 275,120,000 หุ้น
โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน ส่วนหนึ่งนำไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น
(Bridging Loan) ให้แก่ ปตท. และสถาบันการเงิน
จากการที่ไทยออยล์เข้าลงทุนในธุรกิจโอเลฟินโดยซื้อหุ้นใน PT Chandra Asri
Petrochemical Tbk (CAP) บริษัทปิโตรเคมีขนาดใหญ่ในประเทศอินโดนีเซีย
ซึ่งภายหลังการชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่โครงสร้างเงินทุนของไทยออยล์
เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
หรือใช้ขยายธุรกิจในอนาคต