รู้ทันพลังงาน ตอนที่4 (ประชาชนเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ผ่านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ)
ในประเด็นเรื่องของการผลิตไฟฟ้า กลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงานบอกว่าประชาชนไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของพลังงานหมุนเวียน แต่ถูกบีบให้ต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ที่กฟผ.มีรายได้จากการขายไฟฟ้าและสัมปทานเหมืองถ่านหินทั้งในและนอกประเทศ แถมบอกด้วยว่าคนไทยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพง กับการสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มผลประโยชน์พลังงานภายใต้การผูกขาดและผลประโยชน์ทับซ้อนของหน่วยงานรัฐ ข้าราชการประจำและนักการเมือง
ประเด็นที่ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานไม่ได้บอกเรา ก็คือปัจจุบันประชาชนทั่วไปมีสิทธิเป็นเจ้าของพลังงานหมุนเวียน ดังตัวอย่างเรื่องของการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟท็อป ที่รัฐกำหนดเป้าหมายรับซื้อจำนวน200เมกะวัตต์ ที่ต้องรับซื้อจำนวนเท่านี้ก็เพราะเรื่องของพลังงานหมุนเวียน รัฐต่อให้การส่งเสริมค่าไฟฟ้าทั้งในรูปของadder และfeed in tariff พูดง่ายๆก็คือ ต้องซื้อไฟฟ้าประเภทนี้ในราคาที่แพงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างก๊าซและถ่านหิน ถามว่าใครรับภาระส่วนนี้ ก็คือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนนั่นแหละ เพราะต้นทุนที่เกิดการการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน จะถูกบวกเพิ่มเข้าไปในค่าไฟฟ้าที่เรียกว่าค่าเอฟที ดังนั้นเพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าแพงจนเกินกว่าที่ประชาชนจะรับภาระได้ รัฐจึงมีนโยบายให้สร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำลง ซึ่งผู้ลงทุนประมาณก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ และผู้ผลิตไฟฟ้าที่เรียกว่าไอพีพีและเอสพีพี เพื่อช่วยลดภาระการลงทุนของภาครัฐ
**ที่บอกว่าประชาชนไม่ได้เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าจึงไม่จริง เพราะกฟผ.ที่เป็นผู้ลงทุนโรงไฟฟ้านั้นเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดอกผลกำไรที่กฟผ.ได้รับส่วนหนึ่งก็จะส่งให้กับกระทรวงการคลัง เพื่อไปจัดสรรเป็นงบประมาณใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมนี่คือหลักการที่เป็นอยู่ ส่วนประเด็นที่บอกว่า กลุ่มผลประโยชน์พลังงาน ข้าราชการและนักการเมือง เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ ถือเป็นเรื่องที่ต้องไปแก้ที่ระบบและตัวบุคคล ให้การดำเนินการมีความโปร่งใสตรวจสอบได้
สำหรับประเด็นที่บอกว่าถ้าประชาชนสามารถที่จะประหยัดพลังงาน ลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ จะทำให้ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ หลายโรงนั้น ก็เป็นความจริงในเชิงคณิตศาสตร์ตัวเลข และค่อนข้างจะเป็นอุดมคติ เพราะการประหยัดให้ได้ผลแบบนี้ จะต้องทำทุกวันต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายสิบปี ไม่ใช่อยากประหยัดวันนี้ แต่พรุ่งนี้ไม่ประหยัด ในเชิงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจึงเป็นเรื่องยาก ที่จะทำได้ก็จะต้องเป็นมาตรการประหยัดที่วัดผลได้แน่นอน เช่นการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าแบบเดิม มาเป็นหลอดแอลดีอี เป็นต้น จึงจะหวังผลได้ แต่ก็คงไม่ถึงขนาดจะลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้เป็นหมื่นกว่าเมกะวัตต์ เหมือนที่กลุ่ม ขาหุ้นฯ ยกมาอ้าง
น่าตั้งข้อสังเกต ด้วยว่าที่กลุ่มขาหุ้นฯ ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน แล้วชี้ชวนให้คนอื่นๆเข้าร่วมขบวนด้วยนั้น เป็นเพราะบทที่เอ็นจีโอต่างชาติ อย่าง กรีนพีซ บอกเอาไว้หรือไม่ แล้วถามต่อด้วยว่า
ประชาชนพร้อมที่จะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้นกว่านี้ หรือไม่ ถ้าจะเอาพลังงานหมุนเวียน หรือแอลเอ็นจี
มาแทนถ่านหิน
- energy24hours-