นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก
คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานงวด 9
เดือนแรกของปี 2565 ว่า กลุ่มบริษัทบางจาก มีรายได้จากการขายและการให้บริการ
227,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 มี
EBITDA 37,773 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 128
และมีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 12,103
ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 106 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 8.64 บาท โดย EBITDA ที่ปรับเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนวิธีบันทึกเงินลงทุนใน
OKEA เป็นบริษัทย่อยตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี
2564 เป็นต้นมา
และส่วนที่เหลือปรับเพิ่มขึ้นจากผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังนี้
กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี
EBITDA รวม 15,658
ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 149 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เนื่องจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19
ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการเดินทางฟื้นตัวขึ้น
ขณะที่อุปทานน้ำมันยังมีความตึงตัวจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเริ่มปรับตัวลดลงในช่วงไตรมาส 3 ปี
2565
จากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอย
และอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาอย่างต่อเนื่อง แต่ได้รับแรงหนุนจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสปรับลดปริมาณการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมันเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน
โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 100.29
เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจำนวน 33.93
เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือ สูงขึ้นกว่าร้อยละ 51
จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ส่งผลให้กลุ่มบริษัทบางจาก มี Inventory
Gain 5,754 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีที่แล้ว
นอกจากนี้
ยังเป็นผลมาจากการปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
ส่งผลให้ธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นพื้นฐานที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯ
สามารถคงอัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยที่สูงในระดับ 122,600
บาร์เรลต่อวัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 102 ของกำลังการผลิตรวมของโรงกลั่น
กลุ่มธุรกิจการตลาด มี EBITDA รวม
2,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้รับปัจจัยบวกจากปริมาณการจำหน่ายปรับเพิ่มขึ้น
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง
อีกทั้งค่าการตลาดรวมสุทธิต่อหน่วยปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากในไตรมาสก่อนหน้า
ภาครัฐมีนโยบายผ่อนคลายเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมากขึ้น
และในไตรมาสนี้ ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยปรับลดลงตามภาวะตลาดโลก
ส่งผลให้ราคาขายปลีกหน้าสถานีบริการสะท้อนต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปมากขึ้น
นอกจากนี้อุปสงค์การใช้น้ำมันดีเซลในโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติเหลว
(LNG) ที่มีราคาสูง ส่งผลให้ทั้งปริมาณและค่าการตลาดของตลาดอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
กลุ่มธุรกิจพลังงานไฟฟ้า มี EBITDA
รวม 5,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 71
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น
โดยหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น
3 โครงการ กำลังการผลิตตามสัญญารวม 65
เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาว
ได้รับปัจจัยบวกจากการแข็งค่ามากขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับเงินบาท
อีกทั้งรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท Star Energy Group
Holdings Pte. Ltd. 2,031 ล้านบาท
กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ มี EBITDA
รวม 471 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 71
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณการจำหน่ายไบโอดีเซล (B100) ปรับลดลง
จากการที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ประกาศปรับเปลี่ยนส่วนผสม B100
ในน้ำมันดีเซลหมุนเร็วจาก B10 ในช่วง 9
เดือนแรกของปีที่แล้ว มาเป็น B5 ในช่วงเดียวกันของปีนี้
อีกทั้งปริมาณการจำหน่านเอทานอลปรับลดลงจากการบริหารแผนการขาย นอกจากนี้
ในช่วงไตรมาสที่สามของปีที่แล้วยังมีการรับรู้กำไรจากการปรับปรุงมูลค่ายุติธรรมของเงินลงทุน
กลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาธุรกิจใหม่
มี EBITDA รวม 13,856
ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 305 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนในธุรกิจต้นน้ำที่นอร์เวย์ โดย OKEA ASA มีรายได้จากการขายน้ำมันดิบและก๊าซประมาณ
2 เท่าของช่วงเวลา 9
เดือนแรกของปีที่แล้ว เนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 153
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ดีผลดำเนินงานได้รับผลกระทบจากการตั้งด้อยค่าแหล่ง Yme ประมาณ
220 ล้านบาท
(หลังหักภาษีและตามสัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทบางจาก)
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทบางจากฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤติ COVID-19
ตลอดจนสถานะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด
ได้ปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทฯ เป็นที่ระดับ "A" จากเดิม
"A-" นอกจากนี้ BCPG ซึ่งเป็นบริษัทย่อยหลัก
และ BBGI ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตเป็น
"A" จากเดิม A- และ
"A-" จากเดิม BBB+ ตามลำดับ
ส่วนแนวโน้มอันดับเครดิตของทุกบริษัทยังคงเป็น Stable
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ปี
2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย
มีรายได้จากการขายและการให้บริการ 74,767 ล้านบาท และมี EBITDA 11,487
ล้านบาท ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน
โดยหลักมาจากผลกระทบของราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกปรับลดลง
ส่งผลให้ไตรมาสนี้กลุ่มบริษัทบางจากมี Inventory Loss 2,698
ล้านบาท และกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน มี Operating GRM ปรับลดลงตาม
Crack Spread อีกทั้ง Crude Premium ปรับเพิ่มขึ้น
กลุ่มธุรกิจตลาด แม้ว่าจะมีค่าการตลาดปรับเพิ่มขึ้น แต่ได้รับผลกระทบจาก Inventory
Loss ซึ่งส่งผลให้ผลการดำเนินงานปรับลดลง ในขณะที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติฯ
ช่วยลดผลกระทบดังกล่าวข้างต้น โดยในไตรมาสนี้ OKEA มีรายได้จาการขายน้ำมันดิบและก๊าซสูงสุด
เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 136
เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 2,470
ล้านบาท คิดเป็น กำไรต่อหุ้น 1.73 บาท
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า ช่วงไตรมาส 4
ของปีเป็นช่วง High Season ที่มีปัจจัยหลายประการช่วยหนุน อุปสงค์การใช้น้ำมัน
ทั้งเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวภายในประเทศ ภาครัฐประกาศให้ COVID-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง
และผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง
ซึ่งจะช่วยให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้โรงไฟฟ้ายังมีความต้องการใช้ดีเซลอย่างต่อเนื่อง
เพื่อทดแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาสูง
กลุ่มบริษัทบางจากให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงาน
ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมาย Carbon
Neutrality ในปี 2573 (ค.ศ.
2030) และ Net Zero ในปี
2593 (ค.ศ. 2050) ขององค์กร
โดยการสร้างสมดุลระหว่างความท้าทายด้านพลังงาน 3
ประการ อันได้แก่ ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Security) การเข้าถึงพลังงาน
(Energy Affordability) และความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (Environmental
Sustainability)