สนพ.แจง รมว.พลังงาน เดินหน้าระบบสมาร์ดกริดรองรับไฟฟ้าเติบโต
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงพลังงานได้เดินทางมาพบปะและมอบนโยบายที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) โดยมีนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สนพ. ให้การต้อนรับ
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การตรวจเยี่ยมของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ได้มามอบนโยบายให้แก่ สนพ. นับเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งจะได้รับทราบกรอบการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะด้านการบริหารจัดการนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินงานไปแล้วหลายส่วน และเป็นนโยบายหลักของกระทรวงพลังงานที่ต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ความคืบหน้าสำคัญๆ ซึ่งได้รายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในวันนี้ ได้แก่ ด้านกิจการไฟฟ้ามีโครงสร้างและนโยบายในงานด้านกลุ่มจัดหาพลังงานไฟฟ้า กลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ และกลุ่มส่งเสริมการแข่งขันกิจการไฟฟ้า เพื่อกำกับกิจการด้านนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทย ให้สะท้อนต้นทุนในการจัดหาไฟฟ้าที่เหมาะสม ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาในแต่ละวัน ส่งเสริมให้มีการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม คำนึงถึงการดูแลผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย ได้ดำเนินการแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579(PDP 2015) ซึ่งจะให้ความสำคัญต่อ 1) ความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ 2) ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม และ 3) ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้าในระยะยาว 21 ปี ซึ่งระยะเวลาของแผนอยู่ระหว่างปี 2558 - 2579โดยจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP)และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP)
นอกจากนี้ ยังมีแผนแม่บทการพัฒนาระบบ Smart Grid ของประเทศไทย พ.ศ. 2558 - 2579เพื่อพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศให้สามารถรองรับการเติบโต ส่งเสริมการใช้พลังงาน และรองรับการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ใช้เป็นกรอบทิศทางการพัฒนานโยบายระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศในภาพรวม และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากรูปแบบ Adder เป็น Feed ? in Tariff (FiT) เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น อัตรารับซื้อไฟฟ้าคงที่ตลอดอายุโครงการ (มีการปรับเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าที่สะท้อนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างเหมาะสม) มีระยะเวลาสนับสนุน 20 - 25 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงตามค่าไฟฐานและค่า Ftซึ่งจะมีราคาที่ชัดเจนและเกิดความเป็นธรรม สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีการทบทวนอัตรารับซื้อให้ทันสมัยในทุกๆ 1 - 2 ปี
ด้านกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ มีการดำเนินการจัดหา แปรรูปและขนส่ง การใช้ ได้ติดตาม จัดทำแผนการสร้าง Terminal และราคา Pool Gas พิจารณาสัญญาซื้อขายก๊าซจากพม่าเกี่ยวกับโครงสร้างราคา และติดตามการนำเข้าก๊าซ LNG จัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณอัตราค่าบริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ จัดทำแผนการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เสนอหลักเกณฑ์กำหนดราคาสำหรับผู้ใช้ก๊าซแต่ละภาคต่อ กพช. ยกเว้นราคาก๊าซภาคอุตสาหกรรม
ด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558?2579 (EEP 2015) ที่ได้วางกรอบการทำงานไว้ให้จัดทำ ประสาน ขับเคลื่อน กำกับติดตาม ประเมินผล โดยผลงานที่ผ่านมาได้ดำเนินการด้าน 1. ประหยัดพลังงานภาครัฐ 2. ประหยัดพลังงานโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม 3. ประหยัดพลังงานโดยผู้ให้บริการ (EERS) 4. ส่งเสริม LED 5. สนับสนุนสินค้าเบอร์ 5 และ 6. Soft Loan
ด้านข้อมูลพลังงานไทย เป็นศูนย์กลางที่จัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ประมวลผลข้อมูลด้วยระบบฐานข้อมูลสถิติพลังงาน และ เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ประกอบด้วย ภาพรวมสถานการณ์พลังงาน ข้อมูลด้านปิโตรเลียม ข้อมูลด้านก๊าซธรรมชาติ ข้อมูลด้านถ่านหิน/ลิกไนต์ ข้อมูลด้านไฟฟ้า ข้อมูลด้านมูลค่าพลังงาน ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน ข้อมูลราคาปิโตรเลียม ข้อมูลการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงาน บทวิเคราะห์สถานการณ์พลังงานต่างๆ
************************