นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์
ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า
บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดโครงการ GPSC Young Social Innovator 2022
(GPSC YSI) ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงทักษะความสามารถผ่านโครงการ GPSC YSI ซึ่งเป็นโครงการที่
GPSC ให้ความสำคัญในการยกระดับการศึกษาของไทย
โดยการเปิดเวทีเพื่อเป็นสนามประลองด้านความคิดสร้างสรรค์
ส่งเสริมให้เยาวชนนำองค์ความรู้ ด้านวิชาการแขนงต่างๆ
ที่ได้เรียนรู้จากห้องเรียนมาสู่การทำโครงงานที่สามารถต่อยอดเป็นสิ่งประดิษฐ์
เพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนในชุมชนและสังคม ภายใต้แนวคิด "พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Sustainable Energy, Natural resource and
Environment)" ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศ
โดยมีโครงงานจัดส่งเข้าร่วมประกวดมากกว่า 450 ทีม แบ่งออกเป็น 3 ประเภทการประกวด
ประกอบด้วย ประเภทผลิตภัณฑ์
ประเภทสิ่งประดิษฐ์
และประเภทกระบวนการและบริการ
"โครงการ GPSC YSI 2022
มีเยาวชนส่งโครงการเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ดำเนินโครงการมา
สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนและสถานศึกษามีความตื่นตัวทางด้านวิชาการที่จะพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเยาวชน นำองค์ความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น
การใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาสู่การต่อยอดโครงงานที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์
สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมต้นแบบในเชิงสร้างสรรค์สังคมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมให้การสนับสนุน
ผลักดันผลงานเยาวชนที่มีประสิทธิภาพให้ต่อยอดไปสู่ธุรกิจเพื่อสังคมต่อไป"
นายศิริเมธกล่าว
ทั้งนี้ ในการจัดการแข่งขัน GPSC YSI คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ได้คัดเลือกผลงานจนเหลือ 30 ทีม เพื่อเข้าค่ายบ่มเพาะองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญตลอดระยะเวลาของโครงการ
ซึ่งแต่ละทีมได้พัฒนาโครงงานจนสามารถนำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการต้นแบบได้อย่างเป็นรูปธรรม
และผ่านเข้าสู่รอบตัดสินในครั้งนี้
โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละประเภทการประกวด ประกอบด้วย
1. รางวัลชนะเลิศ ประเภทผลิตภัณฑ์
ได้แก่
ทีม YSI07P
: เสือซุ่มขยุ้มหลังคา
ชื่อผลงาน
นวัตกรรมพอลิเมอร์ไมโครแคปซูลตรึงเอนไซม์ไลเปสเพื่อประยุกต์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในกระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
2. รางวัลชนะเลิศ ประเภทสิ่งประดิษฐ์
ได้แก่
ทีม YSI18I
: Friends Unite
ชื่อผลงาน
เครื่องดูดน้ำลายขนาดพกพาสำหรับผู้ป่วยติดเตียง
3. รางวัลชนะเลิศ
ประเภทกระบวนการและบริการ ได้แก่
ทีม YSI22S
: Triple Seeds
ชื่อผลงาน
แพลตฟอร์มการลงทุนคาร์บอนเครดิตเพื่อสหกรณ์การยางแห่งประเทศไทยและการขับเคลื่อนคาร์บอนฐานศูนย์อย่างยั่งยืนสำหรับการผลิตแผ่นยางรมควัน
โดยทีมชนะเลิศทั้ง 3 ประเภท
จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรฯ สยามบรมราชกุมารี
พร้อมเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท จำนวน 3 รางวัล ส่วนทีมที่เหลืออีก 21 ทีม จะได้รับรางวัลเหรียญทองจำนวน
7 ผลงาน เหรียญเงินจำนวน 6 ผลงาน และเหรียญทองแดงจำนวน 8 ผลงาน
พร้อมเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท เพื่อเป็นกำลังใจให้กับเยาวชน
โครงการ GPSC YSI มีเป้าหมายในการสร้างคนรุ่นใหม่ให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและกระแสโลกที่กำลังก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
และเป็นส่วนสำคัญของนโยบายองค์กรในการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
(Corporate Social Responsibility: CSR)
จากความสำเร็จในการดำเนินโครงการตลอด 4
ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนในโครงการ GPSC YSI ส่งผลงานเข้าแข่งขันและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
โดยเยาวชนสามารถเข้าชิงรางวัลในระดับเวทีนานาชาติมากกว่า 22 รางวัล หนึ่งในตัวอย่างโครงงานของ GPSC YSI ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่
โครงการผลิตภัณฑ์เซรั่มจากเห็ดเยื่อไผ่ (NUALLAOR) ของเยาวชนโครงการ
YSI รุ่นที่ 4 ประจำปี 2021
ซึ่งสามารถผลักดันตนเองนำผลงานสู่การต่อยอดทางธุรกิจเพื่อสังคม
นอกจากนี้ ยังมีผลงานต่างๆ
ที่สามารถคว้ารางวัลจากเวทีนานาชาติหลายเวที อาทิ เวที Seoul International
Invention Fair ณ สาธารณรัฐเกาหลี, เวที
International British Innovation, Invention, Technology Exhibition หรือ
IBIX ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และ The
International Invention, Innovation and Technology Exhibition หรือ
ITEX ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น
สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถที่เป็นเลิศของเยาวชนไทยในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี
ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม
และสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป