นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร
ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายปนันท์ ประจวบเหมาะ
ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
(MOU) เพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
อาทิ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และกักเก็บคาร์บอน Carbon Capture
Utilization and Storage (CCUS) และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ
อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ. นนทบุรี
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ
กฟผ. กล่าวว่า
ประเทศไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ครั้งที่ 26 (COP26) โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon
Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050
และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี
ค.ศ. 2065 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
กฟผ. ได้ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ
Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือก และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน Sink
Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน
ผ่านโครงการปลูกป่าล้านไร่และการศึกษาเทคโนโลยี CCUS และ
Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชนผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์
5 โครงการห้องเรียนสีเขียว
และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด
ทั้งเทคโนโลยี CCUS การใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และแอมโมเนีย
เพื่อเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
ทั้งนี้ประเทศไทยยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน
และตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศ ผลจากความร่วมมือนี้จะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าและโครงการอื่น
ๆ ของ กฟผ. ในอนาคต เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ
และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมระดับประเทศและระดับโลกต่อไป
ด้านนายปนันท์ ประจวบเหมาะ
ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเชลล์ได้ดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์
Powering Progress โดยริเริ่มโครงการต่าง ๆ ขึ้นทั่วโลก เช่น
การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในธุรกิจของเชลล์ การซื้อขาย Carbon
Credit และ Renewable Energy ศึกษาและวิจัยเชื้อเพลิงไฮโดรเจนแอมโมเนีย
และเทคโนโลยี CCUS ซึ่งเชลล์มีโครงการที่ดำเนินการแล้ว
และอยู่ในระหว่างการพัฒนากว่า 10 แห่งทั่วโลก จากความมุ่งมั่นของเชลล์
และ กฟผ. ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในธุรกิจของตนนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้
เชลล์เชื่อมั่นว่า ศักยภาพของประเทศไทย บุคลากรไทยที่มีความสามารถ
ผนวกกับองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของ กฟผ. และเชลล์
จะช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนไทย
ช่วยผลักดันประเทศไทยไปสู่เป้าหมายของประเทศในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ในปี 2065