ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล
เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า
สถานการณ์ด้านพลังงานยังคงมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน
ส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งส่งผลต่อราคาพลังงานในประเทศ
โดยกระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งได้ประสานหน่วยงานภายในเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือปัญหาด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา
กระทรวงพลังงานได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนทั้งในส่วนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าไฟฟ้า
เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานดังกล่าวได้
ส่งผลให้ภาครัฐต้องรับภาระทางด้านงบประมาณ ทั้งในส่วนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
และภาระทางด้านการเงินของ กฟผ.
อย่างไรก็ตาม
ในช่วงที่สถานการณ์ราคาพลังงานได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น กระทรวงพลังงานมีความพยายามในการทยอยปรับราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม
ไม่ให้เป็นการสร้างปัญหาด้านงบประมาณในอนาคต
รวมถึงเสริมสร้างให้เกิดการแข่งขันในตลาดพลังงาน นอกจากนั้น
กระทรวงพลังงานยังได้คำนึงการพัฒนาพลังงานเพื่อสอดรับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
และการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงรุก เช่น เมื่อวันที่ 13
มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการออกกฎหมาย BEC (Building Energy Code) และประกาศใช้อย่างเต็มรูปแบบสำหรับอาคารใหม่หรืออาคารดัดแปลงที่มีขนาด
2,000 ตร.ม. ขึ้นไป
ต้องออกแบบให้มีการใช้พลังงานในแต่ละส่วนที่กำหนดให้เป็นไปตามเกณฑ์การใช้พลังงานตามมาตรฐานขั้นต่ำ
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู
รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากการมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับค่าการตลาดและค่าการกลั่นที่อยู่ในระดับสูงนั้น
สนพ. ขอเรียนชี้แจงว่า เนื่องจากการคำนวณค่าการตลาดและค่าการกลั่นนั้น
มีหลักเกณฑ์การคำนวณราคาเพื่อใช้อ้างอิง
แต่ไม่สามารถบังคับหรือตั้งราคาให้กับผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้
เนื่องจากไทยใช้ระบบการค้าน้ำมันอย่างเสรี แต่ สนพ.
ก็ได้ติดตามสถานการณ์ด้านราคาอย่างใกล้ชิด
และใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการขอความร่วมมือจากผู้ค้าน้ำมันในการปรับค่าการตลาดในช่วงที่ราคาน้ำมันมีความผันผวน
อีกทั้งยังใช้มาตรการลดการเก็บภาษีต่าง ๆ
เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุด
รวมทั้งได้บริหารจัดการปริมาณสำรองน้ำมันเพื่อสร้างความมั่นคง
จะเห็นได้จากที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีการขาดแคลนน้ำมัน
ซึ่งต่างกับประเทศเพื่อนบ้านต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำมัน
จนประชาชนได้รับความเดือดร้อน
ส่วนด้านไฟฟ้าที่มีการกล่าวถึงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานนั้น
ส่วนหนึ่งเกิดจากความเข้าใจในวิธีการคำนวณที่คาดเคลื่อน
เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล
พลังงานลม ที่มีความผันผวน ไม่แน่นอน ตามช่วงเวลาและฤดูกาล ไม่สามารถนำมาคำนวณได้
100% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ สถานการณ์โควิดที่ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา
ทำให้ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงค่อนข้างมาก
ซึ่งคาดว่าปริมาณความต้องการใช้และปริมาณการผลิตจะกลับมาสู่ภาวะปกติในเร็วๆ นี้
ส่งผลให้ในช่วงหลังปี พ.ศ.2568 เป็นต้นไป ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม
ด้านนายกัลย์ แสงเรือง
รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้เปิดเผยว่า สกพ.
ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้านั้น ชี้แจงว่าได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ
ในการบริหารจัดการเพื่อให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าส่งผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด
ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาทั้งเรื่องการเปลี่ยนผ่านผู้รับสัมปทานที่ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติลดลงในช่วงแรก
ประกอบกับราคา Spot LNG ที่นำเข้าอยู่ในระดับสูง สกพ.
จึงได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน กฟผ. และ ปตท.
เพื่อบริหารจัดการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่มีราคาต่ำกว่า Spot
LNG เพื่อให้ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปรมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด
และมั่นใจว่าค่า Ft ในรอบเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม
ทั้งของครัวเรือนและธุรกิจอุตสาหกรรมจะกลับมาใกล้เคียงกับค่า Ft รอบกันยายนถึงธันวาคม
2565
นอกจากนั้น
ยังมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทั้งการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์
พลังงานลม และการผลิตไฟฟ้าจากขยะ โดยที่ผ่านมา กกพ.
ได้ออกระเบียบประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดังกล่าวตามนโยบายของภาครัฐ
รวมทั้งกำหนดมาตรการปลดล็อคปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มากขึ้น
ซึ่งจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสโลกที่ต้องการพลังงานที่สะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนั้น ยังสร้างความมั่นคงด้านการผลิตไฟฟ้า
โดยไทยมีสถิติคุณภาพการบริการไฟฟ้าอยู่ในลำดับต้น ๆ ของอาเซียน
สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนให้เข้ามาตั้งโรงงานในประเทศ
"สถานการณ์พลังงานโลกยังคงมีความผันผวนในแบบ
Energy Trilemma อย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่มีความอ่อนไหวทั่วโลก
กระทรวงพลังงานยังคงติดตาม และพร้อมดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชน
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า นโยบายต่างๆ
ที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการนั้น เป็นการคำนึงถึงการพัฒนาในทุกมิติ
ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานสะอาด
ที่ปัจจุบันมีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่ใกล้เคียงกับเชื้อเพลิงฟอสซิล
และมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการส่งเสริมพลังงานสะอาด
ยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ นอกจากที่กล่าวมา
ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากวอนขอในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ คือ
ขอให้พรรคการเมืองอย่านำนโยบายการลดราคาพลังงานที่เกินจริงมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง
เพราะนอกจากจะทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังที่เป็นไปไม่ได้แล้ว
นโยบายดังกล่าวยังจะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างด้านพลังงานและวินัยการเงินการคลัง
ตลอดจนความยั่งยืน ความเป็นอยู่ของประชาชน
และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต ขอยืนยันว่า
ทุกนโยบายที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการนั้น
ได้ผ่านการพิจารณามาอย่างรอบคอบและคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ"
ศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว