นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการบูรณาการการปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.
และโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ภายใต้ความร่วมมือจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งสำนักงานเขตบางพลัดจัดขึ้น
เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสร้างกำแพงธรรมชาติกรองฝุ่น
ตลอดจนต่อยอดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อแก้ไขปัญหาการลอบทิ้งขยะ ณ
บริเวณที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ขาออก ช่วงเลยด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบางพลัด
ท้ายซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 (สกุลชัย 6) เขตบางพลัด กทม.
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.
กล่าวว่า กทม. ได้ดำเนินโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ส่วน กฟผ.
ได้ดำเนินโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม 1 ล้านไร่ ซึ่งเป็นเรื่องปลูกต้นไม้เหมือนกัน
จึงมาร่วมกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง
เพราะเมืองจะดีขึ้นได้เราต้องร่วมมือร่วมใจกัน
สำหรับพื้นที่บริเวณที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้แห่งนี้ แต่เดิมเป็นกองขยะ
เขตบางพลัดจึงได้พัฒนาเป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้
ซึ่งมองว่าในอนาคตควรปลูกเป็นแนวยาวเพื่อพัฒนาให้เป็นทางเดินออกกำลังกาย
สร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน รวมถึงช่วยกรองฝุ่นต่าง ๆ
ซึ่งเขตบางพลัดเป็นเขตที่ปลูกต้นไม้ยืนต้นมากถึง 40%
แม้ในวันนี้จะมีการปลูกไม้ยืนต้นอย่างต้นตะแบกที่ออกดอกสีม่วงสวยงามแล้ว
ยังมีแนวคิดในการปลูกต้นไม้ยืนต้นให้มากขึ้น เช่น ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์
ต้นเหลืองปรีดียาธร เพราะจะออกดอกสวยงาม ทั้งสีชมพูและสีเหลืองด้วย
น.ส.อารียา เพ็งประเสริฐ
ผู้อำนวยการเขตบางพลัด กล่าวเสริมว่า พื้นที่ว่างริมถนนทางเลียบรถไฟสายใต้
เขตบางพลัด ประสบปัญหาการลอบทิ้งขยะเป็นปริมาณมากก่อให้เกิดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางกลิ่น
ไฟไหม้ และขยะล้นออกมาบนผิวการจราจร
สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้สัญจรและผู้พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง
ที่ผ่านมาสำนักงานเขตบางพลัดจึงได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
จัดเก็บและขนย้ายขยะ ซึ่งสามารถจัดเก็บได้ปริมาณมากถึง 208 ตัน จากนั้นในเดือนกุมภาพันธ์
2566 ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ระยะที่ 1 จำนวน 748 ต้น ระยะทาง 300 เมตร
ส่วนกิจกรรมในวันนี้เป็นการดำเนินการในระยะที่ 2 ปลูกต้นไม้จำนวน 750 ต้น
แบ่งเป็นต้นตะแบกซึ่งเป็นไม้ยืนต้น จำนวน 50 ต้น
ต้นทองอุไรซึ่งเป็นไม้พุ่มขนาดกลางจำนวน 200 ต้น และต้นชบาซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยจำนวน
500 ต้น ระยะทาง 200 เมตร โดยได้กำหนดเป้าหมายการปลูกต้นไม้ในอนาคต ณ
ที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้แห่งนี้ เป็นระยะทางรวมกันประมาณ 1 กิโลเมตร
เพื่อพัฒนาต่อยอดให้เป็นสวนสวย หรือสวน 15 นาที ของเขตฯ ต่อไป
ด้าน น.ส.นพวรรณ กาญจนะวรรณ รองผู้ว่าการบริหาร
กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. มีโครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม 1 ล้านไร่
ในพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ในปี
2593 และเป็นยุทธศาสตร์ สร้างความยั่งยืนด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม
และพลังงานที่มีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ
และดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
โดยวางหลักการปลูกป่ารวมงานดูแลบำรุงรักษาไว้ระหว่างปี 2565 – 2574
ซึ่งจะช่วยดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี
และคาดว่าจะสามารถดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้ทั้งสิ้นประมาณ 23.6 ล้านตัน ตลอดระยะเวลาโครงการฯ
ในวันนี้ กฟผ. ได้ร่วมมือกับ กทม. และ รฟท.
ในการบูรณาการนโยบายปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมเข้ากับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นของ กทม.
ซึ่งจะช่วยให้ในเมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น เพราะด้วยสภาพอากาศในปัจจุบัน
หากไม่ช่วยกันดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน จะส่งผลให้การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้ ในกิจกรรมดังกล่าว กฟผ.
ได้สนับสนุนต้นทองอุไรจำนวน 200 ต้น วัสดุอุปกรณ์ในการเตรียมพื้นที่การปลูก
รวมถึงน้ำดื่มระหว่างดำเนินกิจกรรม โดยในปี 2566 กฟผ.
มีเป้าหมายปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วมจำนวน 1 แสนไร่ โดยมุ่งเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
ด้วยการส่งเสริมการสร้างงานและสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบ
รวมถึงบูรณาการปลูกป่าด้วยการปลูกป่าแบบวนเกษตรเพื่อคืนผืนป่า การปลูกป่า 3 อย่าง
ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวทางศาสตร์พระราชา
โดยได้รับการจัดสรรพื้นที่ที่พร้อมดำเนินการปลูกป่าบกจากกรมป่าไม้แล้วในเดือนกุมภาพันธ์
2566 จำนวน 96,430 ไร่ และมีแผนบำรุงรักษาป่าที่ปลูกในปี 2565 จำนวน 97,103.2 ไร่