กระทรวงพลังงาน เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นด้านพลังงานครั้งที่2
กระทรวงพลังงาน เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นด้านพลังงานครั้งที่2 ที่ จังหวัดขอนแก่น เน้น 4 แผนงาน ทั้ง การจัดหาเชื้อเพลิง, การพัฒนากำลังผลิตด้านไฟฟ้า, การพัฒนาพลังงานทดแทน และการประหยัดพลังงาน
วันนี้ (10 กันยายน 2557) นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิด การสัมมนารับฟังความคิดเห็น ทิศทางพลังงานไทย ที่จังหวัดขอนแก่นว่า การสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยใน ครั้งแรกได้จัดที่กรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในเรื่องพลังงาน
กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำแผนด้านพลังงานของประเทศในระยะยาว ซึ่งประกอบด้วยแผนการจัดหาเชื้อเพลิงพลังงาน แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาพลังงานทดแทน และ แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมีเป้าหมาย เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับภาคพลังงานของประเทศ แผนดังกล่าวได้คิดและคาดการณ์โดยใช้ข้อมูลในอดีต ทั้งนี้จากข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี 2554-2556 ปริมาณการใช้พลังงานของประเทศเติบโตโดย เฉลี่ย 4.7% มูลค่าการนำเข้า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งหากถ้าสามารถลดการใช้ได้ 2% จะได้ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และนำเงินสำรองไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นได้ โดยการปรับปรุงทิศทางครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่กระทรวงพลังงานจะขอรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลกลับไปทบทวนทิศทางพัฒนาพลังงานให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ
"กระทรวงพลังงานตระหนักดีว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้การจัดทำแผนพลังงานมีความสมบูรณ์ในทุกมิติ ก็คือการนำความเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปใช้ในการจัดทำแผนงาน ให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ตามเป้าหมายในการสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยรวม "ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ปัจจุบัน ภาคอีสานที่ขอนแก่น มีการผลิตปิโตรเลียม จาก 2 แหล่ง คือ
แหล่งน้ำพอง 12 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
และแหล่งสินภูฮ่อม 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
ส่วนหนึ่งส่งไปโรงไฟฟ้าน้ำพอง และอีกส่วนหนึ่งไปผลิต NGV ซึ่งปริมาณ
ก๊าซธรรมชาติกำลังจะหมดลง จำเป็นต้องจัดหาเชื้อเพลิงใหม่มาทดแทน ซึ่งงานครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการมารับฟังความคิดเห็น
ถึงความเหมาะสมกับวิถีชีวิตในภูมิภาคโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอีสานมีข้าวพันธุ์ดีอยู่มาก
เป็นพื้นที่เกษตรกรรม เศษวัสดุทางการเกษตรที่มีอยู่มาก
มีค่าสามารถนำไปใช้ทดแทนเชื้อเพลิงได้ การรับฟังความเห็น
การเปิดให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพลังงาน จะทำให้ได้ข้อมูลในเชิงพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
นำไปปรับปรุงแผนพลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการทั้งระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป
โดยอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรม และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน
ภายในเดือนกันยายนนี้กระทรวงพลังงาน จะเปิดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ และภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นลำดับต่อไป