บรรยง รสนา วิวาทะพลังงาน ที่มีทางออก
กลายเป็นวิวาทะทางพลังงานที่ทำให้บรรดาแฟนนานุแฟนของแต่ละฝ่ายต้องซู้ดปากเสียงดังเลยที่เดียว เมื่อคุณบรรยง พงษ์พานิช เขียนเฟซบุคส่วนตัว ถึงข้อเสนอของฝั่งเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ที่ไม่อาจนำมาผสมผสานให้เข้ากับข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน(ERS) ได้ เพราะต่างยืนอยู่บนหลักการคนละขั้วของการบริหารระบบเศรษฐกิจ นัยว่า ฝั่ง คปพ.กำลังจะดึงให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศ ที่กำลังเป็นไปได้ด้วยดี ตามหลักการทุนนิยมเสรีหรือระบบเศรษฐกิจแบบตลาด(Market Economy) ที่เชื่อว่าหากส่งเสริมให้ตลาดมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้ประโยชน์ ให้กลับมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์(Centrally Planned Economy) หรือระบบสังคมชาตินิยม(Socialism & Nationalism) ซึ่งมีความเชื่อว่า ระบบตลาดนั้นมีแต่ความสกปรกเอารัดเอาเปรียบกัน รัฐเท่านั้นจึงจะมีความเป็นธรรม
ประเด็นที่ทำให้คุณรสนา ต้องลุกขึ้นมาเขียนเฟซบุคส่วนตัวตอบโต้ แบบทันควัน ตามด้วยบรรดาคนจากเครือข่ายฝั่งเอ็นจีโอ ของคุณรสนา อีกกลุ่มใหญ่ เขียนข้อเขียนที่แสดงทรรศนะ พาดพิงไปถึง แนวทางการทำงานของ เอ็นจีโอแบบ คุณรสนา ว่ามีแต่ทักษะของการ "ขัดขวาง ต่อต้าน ทำลาย" รวมทั้งการเปลี่ยนบทบาท จากที่เป็นฝ่ายตรวจสอบ เป็นการเข้ามาร่วมนั่งบริหารเสียแต่เริ่มต้น ที่จะทำให้เกิดความเสียหายและไม่มีประสิทธิภาพ เพราะจะมุ่งเน้นแต่เรื่องของการ ลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน จนทำให้ของขาดแคลน แล้วค่อยไปขอภาษีรัฐมาอุดเอาไว้
คุณบรรยง ประกาศตัวชัดว่าเป็นคนที่มีแนวคิด"เสรีนิยมแบบอนุรักษ์"(Conservative Liberalism)และกระโดดเข้าร่วมกับกลุ่มERSอย่างเต็มใจตั้งแต่ต้น เพราะเชื่อมั่นว่าข้อเสนอของคปพ.นั้น เป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่ออุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และฉุดรั้งให้ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศ มีปัญหาร้ายแรงตามไปด้วย โดยยกตัวอย่างให้เห็นชัดในกรณีความล้มเหลวในการบริหารประเทศของเวเนซุเอลา ที่มีปริมาณน้ำมันดิบสำรองมากที่สุดในโลก แต่เลือกเดินนโยบายที่ผิดพลาดคือ การNationalize ยึดกิจการของเอกชน ของต่างชาติ มาเป็นของรัฐ จนผลผลิตน้ำมันตกต่ำลงเรื่อยๆ จากวันละกว่าสี่ล้านบาร์เรล มาปัจจุบันเหลือไม่ถึง 2 ล้าน และต้องนำเข้าน้ำมันครั้งแรกในรอบร้อยปีเมื่อปลายปีที่แล้ว...ปัจจุบันเศรษฐกิจของเวเนซุเอลา ย้ำแย่ มีเงินเฟ้อกว่าร้อยละหกสิบ ทุกๆอุตสาหกรรมล้มเหลวต่อเนื่อง สินค้าขาดแคลน เป็นประเทศที่หมดตัว ไม่มีอะไรเหลือนอกจากน้ำมันใต้ดิน แต่ไม่มีปัญญาลงทุนเอาขึ้นมาใช้
คุณบรรยง เขียนถึงข้อเสนอของฝั่ง ERS ว่า จะต้องปรับเรื่องราคาพลังงาน ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และให้เป็นตามกลไกตลาด ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ราคาถูกเพื่อเอาใจประชาชน เพราะมีงานมีวิจัยยืนยันแล้วว่า การขายพลังงานราคาถูกนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่จะเป็นคนรวย โดยนกตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าลดราคาเบนซิน 1 บาทต่อลิตร ประโยชน์จะตกกับคนรวยที่สุดยี่สิบเปอร์เซ็นต์แรกถึง 61 สตางค์ แต่คนจนยี่สิบเปอร์เซ็นล่างจะได้แค่ 6 สตางค์)
พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาล มีความกล้าหาญที่จะตัดสินใจ เลือกข้างที่ถูกและเป็นสากล เดินหน้าตามข้อเสนอของERS เพราะการเลือกผิดข้าง หรือการไม่เลือกแล้วปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไม่ตัดสินใจ ก็ทำให้เกิดความเสียหายมากพอกัน
ข้อเขียนเกือบ4หน้าจอคอม ของคุณบรรยง เมื่อวันที่22พ.ย. มีคนเข้ากดถูกใจ 900กว่าคนแชร์ไปอีก400กว่าครั้ง ถือว่าได้รับความสนใจค่อนข้างมาก
หันมาดูฝั่งคุณรสนา ที่เขียนเฟซบุคส่วนตัว ตอบโต้ คุณบรรยงโดยเฉพาะ เมื่อวันที่25 พ.ย.
มีคนกดถูกใจ464 คนและแชร์ไป 174 ครั้ง ซึ่งก็ถือว่ามีเครือข่ายเป็นแฟนประจำกลุ่มใหญ่ไม่แพ้กัน
ข้อเขียนของคุณรสนา นั้นเต็มไปด้วยสำนวนโวหาร ที่ยืนยันความเชื่อและอุดมการณ์ของกลุ่มตน และผลักให้คุณบรรยง และERS ไปอยู่ฝั่งของกลุ่มทุนผูกขาด ด้วยสำนวน
"อย่าบิดเบือนการตรวจสอบของประชาชนด้วยความคิดตกยุคของทุนผูกขาดล้าหลัง"
คุณรสนาเธอโต้กลับว่า คุณบรรยงกำลังปลุกผีให้สังคมเกลียดกลัว เอ็นจีโอ โดยวาดภาพ เอ็นจีโอ ว่าเป็นพวกที่มีทักษะแค่"การขัดขวาง การต่อต้าน การทำลาย" ซึ่งไม่ต่างจากยุคสมัยที่มีการปลุกผีคอมมูนิสต์ให้คนไทยเกลียดกลัว
พร้อมยกตัวอย่าง ข้อดีของความเป็นชาตินิยม ที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจอย่าง เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่ช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวกระโดด ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่เคยเป็นประเทศโซเชียลิสต์ ในแบบนั้น เพราะไทยเป็นชาตินิยมแต่ปาก ไม่เคยมีความรู้สึกชาตินิยมทางเศรษฐกิจจริงจังอะไรเพราะมีค่านิยมซื้อสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยจากเมืองนอกและดูถูกสินค้าไทย
คุณรสนาเธอชี้ให้เห็นว่า
ระบบทุนนิยมแบบของไทย ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นั้น ทำให้เกิดการผูกขาด มีอภิสิทธิ์สารพัด เพราะบริหารอย่างขาด
ธรรมาภิบาล ขาดการตรวจสอบและไร้ประสิทธิภาพ
เธอย้ำว่า การหยิบยกเอาทฤษฎีสุดโต่งสองขั้วที่ต่อสู้กันระหว่างสังคมนิยมชาตินิยม กับ ทุนนิยมเสรี มาพูดใหม่ โดยเปรียบเทียบระหว่าง ERS และ คปพ. เป็นเรื่องที่ตกยุค และเป็นการให้ร้ายป้ายสี กลุ่มของเธอเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการคงการผูกขาดของกลุ่มทุนพลังงานเอาไว้ภายใต้เสื้อคลุมทุนนิยมเสรี
คุณรสนา ปฏิเสธว่า แนวคิดของเธอ
ไม่ได้นิยมชมชอบ ลัทธิสังคมนิยมคอมมูนิสต์
แต่เป็นแนวคิดที่ สนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรีที่เป็นธรรม สิ่งที่เธอต่อต้านคือทุนนิยมผูกขาด
แบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา และย้ำว่า "ตลาดเสรี
ต้องไม่ใช่เสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่"
เธอชี้แจงให้เข้าใจบทบาทของ เอ็นจีโอ ว่า ส่วนใหญ่เป็นเพียงองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรภาครัฐและองค์กรธุรกิจเอกชนที่มีสิทธิและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเหมือนพลเมืองทั่วไปในการตรวจสอบการใช้ภาษีของประชาชนให้เป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม และมีผลงานพัฒนาและการตรวจสอบอันเป็นที่ประจักษ์และเป็นที่ยอมรับของสังคมไทยตามสมควร ดังนั้นใครที่มองว่าการทำงานตรวจสอบของเอ็นจีโอ เป็นการทำลาย ถ้าไม่มีอคติส่วนตัว หรือเป็นวัว สันหลังหวะ จึงควรกลับไปทบทวนเสียใหม่ว่า สิ่งที่ทำลายระบบหรือองค์กรนั้นล้วนมาจากความไร้ธรรมาภิบาลและความด้อยประสิทธิภาพจากภายในเอง ไม่ใช่การตรวจสอบหรือการโจมตีจากภายนอกแต่อย่างใด โดยยกตัวอย่างบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่อย่าง Enron ที่ล้มละลายจากการตกแต่งบัญชีและการทุจริตคอร์รัปชันภายในองค์กรของตัวเอง
คุณรสนา เขียนตอบโต้คุณบรรยง ที่ปรามาส เธอไว้ว่า ถ้ามานั่งหัวโต๊ะบริหารงานด้านพลังงานคงจะทำอะไรไม่เป็นจะเอาแต่สั่งลดราคาเอาใจประชาชนจนขาดทุน จนต้องไปเอาภาษีรัฐมาอุด ว่า ถ้าเธอมีโอกาสได้นั่งหัวโต๊ะทำเรื่องพลังงานจริง สิ่งแรกที่จะทำคือ การสั่งยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมาย ซึ่งทั้ง2กองทุนนั้นล้วงกระเป๋าประชาชนไปแล้วกว่า80,000ล้านบาท
โดยการทำแบบนี้จะเป็นการลดภาระให้กับผู้บริโภคและเป็นการสะท้อนราคาตามกลไกตลาดอย่างที่คุณบรรยงต้องการ
พร้อมจะเสนอ ให้ปตท.แปรรูปเป็นเอกชน100% แต่มีเงื่อนไขต้องจัดการนำท่อก๊าซ ท่าเรือ คลังก๊าซที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติกลับมาเป็นของรัฐเสียก่อน ไม่ให้เป็นกรรมสิทธิ์ผูกขาดของเอกชนรายใดรายหนึ่งจากนั้นจะเปิดให้เอกชนหลายรายสามารถเช่าใช้ได้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันตามหลักเศรษฐกิจเสรี
นอกจากนี้กิจการก๊าซทั้งระบบซึ่งเป็นระบบที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญจะปล่อยให้เป็นกิจการของเอกชนไม่ได้ กิจการนี้ต้องนำกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนกิจการใดของปตท.ที่มีการแข่งขันให้เป็นเอกชนได้100%
ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานเก็บเงินจากประชาชนที่ใช้น้ำมันลิตรละ25สต. ได้เงินปีละ 8,000-9,000ล้านบาท ปัจจุบันมีเงินอยู่ถึง40,000ล้านบาทแล้ว ควรต้องหยุดเก็บเงิน และจะให้มีการตรวจสอบการใช้เงินและประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลว่า มีมรรคผลให้เกิดการประหยัดการใช้พลังงานในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างไร
ทิ้งท้ายด้วยการกล่าวถึง "กลุ่มERS"ว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลอย่างสูง เพราะสมาชิกERSมีข้าราชการในกระทรวงพลังงานทั้งอดีตปลัดและอธิบดีปัจจุบันที่เป็นกรรมการบริหารกองทุนอนุรักษ์พลังงานด้วย ที่สุ่มเสี่ยงทำให้เกิดเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน หรือConflict of Interest และยกตัวอย่างมาเลเซีย ที่ประสบความสำเร็จในการตั้งตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติและ
ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตมาดูแลบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมต้นน้ำ แต่ก็ไม่ได้ทำให้มาเลเซียกลายเป็นสังคมนิยม
ส่วนการอ้างเรื่องคปพ.เขียนกฎหมายให้พวกเครือข่ายของเธอได้เข้าไปเป็นกรรมการในบรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น คุณรสนาเธอบอกว่าเป็นเพียงการเอาประเด็นเล็กมาโจมตีเพื่อปิดบังหลักการใหญ่เรื่องเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์จากของเอกชนมาเป็นของประเทศเจ้าของทรัพยากร
เธอเขียนทิ้งท้ายว่าสิ่งที่เธอทำหน้าที่อยู่ในขณะนี้ไม่ใช่การทะเลาะกับกลุ่มERS แต่เป็นการบอกกับรัฐบาลที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนให้กำหนดนโยบายพลังงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนเพราะความมั่นคงทางพลังงานสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชนที่ขาดความรับผิดชอบต่อประชาชน
สำหรับคนที่สนใจจะอ่านข้อเขียนของทั้งสองท่าน แบบฉบับเต็มๆ ต้องเข้าไปที่เฟซบุคส่วนตัวของทั้งคุณบรรยง และคุณรสนา อ่านแล้วคิดตาม ก็พอจะเห็นทางออกข้อยุติ ว่าแนวคิดของทั้งสองท่าน ไม่ได้อยู่ต่างขั้วแบบเสรีนิยม และสังคมนิยม เสียจน จะประณีประณอมกันไม่ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ ที่มีหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นกรอบใหญ่อยู่แล้ว เพียงนำเรื่องที่ทั้ง2ฝ่ายเห็นตรงกัน มาเริ่มดำเนินการก่อน โดยลดทิฐิ อัตตาลงก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะเรื่องพลังงาน เป็นหลักความจริง มีเหตุผลเป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องของความเชื่อ -Energy24hours